บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ

     แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
      บุคลิกภาพคือสิ่งที่ทำให้แต่ละบุคคลมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว บุคลิกภาพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และความพยายามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีย่อมได้เปรียบ เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้พบเห็น ตลอดจนมักจะประสบผลสำเร็จในการสมัครเข้าทำงานและการประกอบอาชีพ บุคลิกภาพเป็นเรื่องของภาพรวมที่ตัวเราแสดงออกไป ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวโดยมีบุคคลอื่นมองอยู่หรือรู้สึกกับสิ่งที่เราแสดงออกจึงต้องมีการระมัดระวังและตกแต่งเสริมเติมให้บุคลิกภาพของเรายิ่งน่ามอง และเป็นที่ประทับใจของคนรอบตัว
ดังนั้น การที่บุคคลจะได้รับการยอมรับนับถือ การสนับสนุนความไว้วางใจและความประทับใจจากผู้อื่น ควรแสดงบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมให้ผู้อื่นเห็น ซึ่งประกอบไปด้วยรอยยิ้มที่อบอุ่น จิตวิทยาดี อารมณ์คงที่ คำพูดที่จริงใจ การยืน การเดิน การนั่ง การวางท่าทีให้ดูเป็นธรรมชาติ เพราะบุคลิกมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
        หัวข้อเรื่อง (Topics)
1. ความหมายของบุคลิกภาพ
            2. ความสำคัญของบุคลิกภาพ
            3. ขอบข่ายของบุคลิกภาพ
            4. องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ
            5. แนวความคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
            6. ประเภทของบุคลิกภาพ
            7. การศึกษาพฤติกรรมจากบุคลิกภาพของคน
8. พัฒนาการของบุคลิกภาพ
9. ลักษณะของบุคลิกภาพที่ดี
      สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
            1. แสดงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
            2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
     จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
            1. อธิบายความหมายของบุคลิกภาพได้
            2. อธิบายความสำคัญของบุคลิกภาพได้
            3. อธิบายขอบข่ายของบุคลิกภาพได้
            4. อธิบายองค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพได้
            5. อธิบายแนวความคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพได้
            6. แยกประเภทของบุคลิกภาพได้
            7. อธิบายการศึกษาพฤติกรรมจากบุคลิกภาพของคนได้
            8. อธิบายพัฒนาการของบุคลิกภาพได้


           8. อธิบายลักษณะบุคลิกภาพที่ดีได้

      

       เนื้อหา
การดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพต่าง ๆ ในปัจจุบันทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน ธุรกิจ บุคคลได้ให้ความสำคัญเรื่องบุคลิกภาพมากทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ มักกำหนดคุณสมบัติของบุคลิกภาพไว้เป็นประการสำคัญ จากการวิจัยวิศวกรกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่า วิศวกรสมองดี ความรู้ดี และบุคลิกภาพที่ดี สามารถหาเงินและปฏิบัติหน้าที่   ได้ดีกว่าถึง 6 เท่า ของวิศวกรที่มีสมองดี ความรู้ดี แต่หย่อนบุคลิกภาพ
            บุคลิกภาพจึงส่งผลต่อ ความสำเร็จและ “ความล้มเหลวของตนเองและองค์กร เพราะบุคคลที่มีความสามารถและตำแหน่งสูงย่อมต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ สามารถโน้มน้าวจิตใจให้ผู้ที่ติดต่อด้วยรู้สึกพอใจ เกิดความนิยมชมชอบ รู้สึกประทับใจ ยินดีร่วมมือด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้   การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์กร
งานแต่ละประเภทให้ความสำคัญเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น งานบริการ    งานขายสินค้า ส่วนใหญ่จะต้องมีบุคลิกภาพดี สะอาด พูดจาสุภาพ ก็จะทำให้มีโอกาสขายสินค้า          ได้สูงขึ้น งานประเภทใช้กำลังกาย บุคลิกภาพของผู้ประกอบอาชีพนี้ ก็จะต้องมีลักษณะความแข็งแรงทางร่างกายสูง งานประเภทค้าขายสินค้าอาหารต่าง ๆ บุคลิกภาพของคนประกอบอาชีพนี้ก็ควรมีบุคลิกภาพที่เหมาะสม คือ แต่งตัวสะอาด รัดกุม เรียบร้อย ก็จะทำให้มีโอกาสขายสินค้าหรืออาหาร     ได้ดีกว่าคนที่แต่งตัวสกปรก เสื้อผ้าเก่า ๆ ไม่เรียบร้อย เป็นต้น
            ดังนั้น บุคลิกภาพที่ดีที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ขุมพลังอันยิ่งใหญ่ ทั้ง   ในด้านส่วนตัวและการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดประโยชน์และความสำเร็จ ทั้งทางด้านการเงินตำแหน่งและสังคม บุคลิกภาพจึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา เพื่อจะได้ใช้ขุมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
ภาพที่ 1.1 บุคลิกภาพที่ดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก
(ที่มา: http://doublemew.blogspot.com)

         ความหมายของบุคลิกภาพ
        บุคลิกภาพตรงกับภาษาอังกฤษว่า Personality มีรากศัพท์เต็มมาจากภาษากรีก คือ Persona   (Per + Sonar) ซึ่งหมายถึง Mask แปลว่าหน้ากากที่ตัวละครใช้สวมใส่ในการเล่นเป็นบทบาทแตกต่างกันไปตามที่ได้รับ
การเล่นละครของกรีกและโรมันในสมัยก่อนตัวละครได้รับบทบาทใดก็จะสวมหน้ากากแล้วแสดงตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เช่น เล่นเป็นผีก็จะสวมหน้ากากผี เล่นเป็นลิงก็จะสวมหน้ากากลิง เป็นต้น หน้ากากที่สวมนั้นจะได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้ผู้เล่นพูดได้อย่างสะดวก

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นนำมาสู่ความเข้าใจว่า บุคลิกภาพของคนก็เหมือนกับหน้ากากละครที่จะแสดงพฤติกรรมไปในสถานการณ์ที่แตกต่างกันตามบทบาทที่ตนเองได้รับ เช่นเดียวกับตัวละคร      ที่แสดงบทบาทตามหน้ากากที่สวมอยู่ คำว่าบุคลิกภาพนั้นหมายความรวมไปถึงเสื้อผ้าที่เราสวมอยู่ กิริยาที่เราแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทำ ด้วยความสลับซับซ้อนของโลกที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบันบังคับให้บุคคลแสดงในหลาย ๆ บทบาท บุคลิกภาพของมนุษย์จึงมีการพัฒนามากขึ้น
ภาพที่ 1.2 บุคลิกภาพที่ดี
(ที่มา: http://variety.teenee.com)       
นักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าบุคลิกภาพไว้ ดังนี้
คลักฮอห์น (Kluckhohn) ได้กล่าวว่าบุคลิกภาพของมนุษย์ทั่วไปจะมีลักษณะร่วม ที่เหมือนกันในฐานะเป็นมนุษย์ และจะมีลักษณะส่วนหนึ่งที่คล้ายกับทุกคนในสังคมและวัฒนธรรมที่ตนเป็นสมาชิก แต่ขณะเดียวกันจะมีคุณสมบัติที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เช่น คนไทยคนใดคนหนึ่งจะมีบุคลิกภาพส่วนตัวร่วมกับ มนุษย์โดยทั่วไป และจะมีบุคลิกภาพของตนโดยเฉพาะ
จี เมอร์ฟี, แอล เมอร์ฟี และ ที นิวคอมบ์ (G. Murphy, L. Murphy and T. Newcomb) กล่าวว่า บุคลิกภาพ คือ ความเด่นประจำตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจบอกถึงความแตกต่างกับบุคคลอื่น ๆ ได้     ในรูปของปริมาณและคุณภาพในลักษณะเด่น ๆ นั้น
ชไนเดอร์ (Schneider) กล่าวว่า บุคลิกภาพ หมายถึง กระบวนการสร้าง หรือการรวมคุณลักษณะทั้งด้านร่างกายและจิตใจของบุคคล ตลอดจนความสามารถ ความโน้มเอียง นิสัย อากัปกิริยาของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะและบุคลิกภาพจะเป็นเครื่องกำหนดปฏิกิริยาของบุคคลที่มีต่อตนเองและผู้อื่น และเป็นผลต่อความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุ บุคคล และวัฒนธรรมของสังคมที่เขาอาศัยอยู่
เบอร์นาร์ด (Bernard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ผลรวมทั้งหมดของท่าทาง รูปร่างลักษณะทางกาย พฤติกรรมที่แสดงออก แนวโน้มการกระทำ ขอบเขตความสามารถทั้งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในและที่แสดงออกมา
มอร์แกน (Morgan) ให้ทัศนะว่า บุคลิกภาพ คือ คุณสมบัติและคุณลักษณะเด่นของบุคคล รวมทั้งการปรับตัวของบุคคลและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ฮาร์ทแมน (Hartman) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดที่บุคลิกแสดงออกโดยกิริยาอาการ ความนึกคิด อารมณ์ นิสัยใจคอ ความสนใจ การติดต่อกับผู้อื่น ตลอดจนรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และความสามารถในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น 
            ฮิลการ์ด (Hilgard) กล่าวว่า บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะส่วนรวมของบุคคลแต่ละคนอันเป็นแนวทางในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละคนมีรูปแบบของการแสดงออกทางพฤติกรรม ต่าง ๆ กัน
            ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า บุคลิกภาพ หมายถึง สภาพนิสัยจำเพาะคน หรือลักษณะเฉพาะประจำตัวของแต่ละบุคคลที่ปรากฏให้เห็น
            นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากนักจิตวิทยาอีกหลายท่านได้ให้คำจำกัดความของคำว่า บุคลิกภาพ ซึ่งมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน จากคำจำกัดความของบุคลิกภาพดังที่กล่าวว่ามาแล้วข้างต้น จึงสามารถสรุปความหมายของคำว่าบุคลิกภาพได้ดังนี้
            บุคลิกภาพ หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมของบุคคลซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ที่แสดงออกทั้งทางด้านความคิด ความรู้สึก ความสนใจ สติปัญญา รวมทั้งทางด้านสรีระ บุคลิกภาพภายนอกและภายใน ทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ บุคลิกภาพของบุคคลเป็นผลมาจากพันธุกรรม (Heredity) และสิ่งแวดล้อม (Environment)
ภาพที่ 1.3 บุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะบุคคล
(ที่มา: http://www.jsfutureclassroom.com)


ความสำคัญของบุคลิกภาพ
การมีบุคลิกภาพที่ดีจะทำให้บุคคลมีลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในสภาพความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง การแสดงอารมณ์จะอยู่ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคมได้ดี มีความรัก และความผูกพันต่อผู้อื่น มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง การพัฒนาทางการแสดงออกของตนต่อผู้อื่นได้ดี
บุคลิกภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งในด้านของการดำเนินชีวิต การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล การปฏิบัติหน้าที่การงาน การเข้าสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้    ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของบุคคล การมีบุคลิกภาพที่ดีทำให้บุคคลได้รับประโยชน์ ดังนี้
1. ความมั่นใจ (Confident) ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะทำให้รู้สึกมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้น  กล้าแสดงความคิดเห็น แสดงความรู้สึก และกล้าที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นการแสดงออกที่ดีทำให้ผู้พบเห็นให้ความสนใจซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองของบุคคลผู้นั้น เช่น กรกนกมีบุคลิกภาพที่ดี เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนกลุ่มในการนำเสนอผลงาน ก็สามารถนำเสนอผลงานได้ดี เพราะมีความมั่นใจ และกล้าแสดงออก  
2. ความสำเร็จ (Success) บุคคลที่มีบุคลิกภาพที่ดี สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธา ประกอบกับความเชื่อมั่นในตนเอง จึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความศรัทธาให้ผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือ ทำให้ได้รับความสะดวกพร้อมเพรียงและปฏิบัติงานให้สำเร็จด้วยดี
3. ความเป็นตัวของตัวเอง (Self-confident) ผู้ที่มีบุคลิกภาพดี จะมีลักษณะเฉพาะตัว และเป็น ตัวของตัวเอง สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งด้านการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น เมื่อ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ
4. การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences) ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะมองเห็นและยอมรับในความแตกต่างของบุคคลว่า คนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านรูปร่างและสติปัญญา จึงทำให้ผู้พบเห็นยอมรับและแยกความแตกต่างของบุคคลได้ ช่วยให้สามารถรู้จักและเข้าใจบุคคลแต่ละคนได้ดีขึ้น
5. การปรับตัว (Adaptation) ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะมองเห็น และยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคลจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลและสถานการณ์ได้ดีขึ้น สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องได้
6. การยอมรับของกลุ่ม (Acceptance) บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีย่อมเป็นที่ต้องตาต้องใจ นิยมชมชอบศรัทธาเชื่อมั่น และได้รับการยอมรับจากกลุ่มเป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกพอใจ ยินดี และมีความมั่นคงทางด้านจิตใจ เสริมสร้างให้ได้รับความสำเร็จทั้งส่วนตนและองค์กร 
7. การคาดหมายพฤติกรรม (The expected behavior) บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีที่ต่างกันทำให้สามารถทำนายพฤติกรรมของบุคคลนั้นได้ เช่น บุคคลที่ยิ้มแย้มแจ่มใสมักเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี บุคคลที่มีความกระตือรือร้น มักเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เป็นต้น
ภาพที่ 1.4 บุคลิกภาพที่ดีทำให้มีความสุขในการทำงาน
(ที่มา: http://image.mcot.net)


 ขอบข่ายของบุคลิกภาพ
สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือในการพิจารณาบุคลิกภาพของบุคคลมีดังต่อไปนี้
1. ลักษณะทางกาย (Physical characteristics) เป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ ได้แก่ รูปร่างทรวดทรงความสูงน้ำหนัก หน้าตา สีผม ผิวพรรณ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้ทราบถึงประสิทธิภาพของบุคคลและความสามารถในการงาน
2. ลักษณะการพูดจาท่าทาง (Flattering styles) คือ การแสดงออกทางด้านการพูด ได้แก่ ความชัดเจนชัดถ้อยชัดคำ การพูดเร็ว การพูดช้า การพูดติดอ่าง การพูดแบบมีจังหวัดจะโคน รวมถึงการใช้น้ำเสียงในการพูด เป็นต้น
3. ลักษณะทางจิตใจ (Psychological characteristics) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับสมองทั้งสิ้น ได้แก่สติปัญญา ความจำ ความถนัด จินตนาการ ความสนใจ ความตั้งใจ เจตคติ การตัดสินใจ การคิดด้วยเหตุผล เป็นต้น
4. อุปนิสัย (Character) เป็นสิ่งที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร   จนเป็นความประพฤติ เช่น ความซื่อสัตย์ ความไม่เห็นแก่ตัว ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุภาพอ่อนโยนความเคารพกฎหมาย ความมัธยัสถ์ อดออม ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ เป็นต้น
5. อารมณ์ (Emotion) เป็นความรู้สึกแห่งจิตที่ก่อให้เกิดอาการกระทำต่าง ๆ เช่น โกรธ ร่าเริงตกใจ หงุดหงิด กังวล กล้าหาญ หวาดกลัว เกลียด รัก เป็นต้น
6. กำลังใจ (Encouragement) คือ ความสามารถที่จะควบคุมหรือบังคับกิริยาอาการต่าง ๆ ที่กระทำไปโดยเจตนา บางคนมีกำลังใจดี กำลังใจเข้มแข็ง ก็จะสามารถเผชิญอุปสรรคหรือปัญหาได้ดี บางคนเปราะบาง เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบจิตใจก็เกิดอาการท้อถอย หมดกำลังใจในการแก้ไขปัญหา
7. การสมาคม (Sociability) เป็นกิริยาท่าทาง หรืออาการที่แสดงออกต่อบุคคลอื่น เช่น เสียสละหรือว่าเอาเปรียบ ชอบคบหาสมาคมหรือชอบเก็บตัว เมตตาปรานี เห็นใจผู้อื่นหรือไม่แยแสผู้อื่น
8. ความรู้ ความสามารถ อำนาจ ฐานะ การเป็นคนมีความรู้สูง มีความชำนาญ มีความสามารถพิเศษ มีอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ มีอิทธิพล มีฐานะทางการเงินดี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะส่งเสริมบุคลิกภาพอย่างมาก
ภาพที่ 1.5 ลักษณะกิริยาท่าทาง สามารถบอกถึงบุคลิกภาพของบุคคลได้
(ที่มา: http://theirowndevelopment.blogspot.com)


 องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ
องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิก หมายถึง สิ่งที่มาประกอบเข้ากันจนกลายเป็นตัวบุคคลนั้น โดยส่วนรวมทำให้แตกต่างไปจากบุคคลอื่น องค์ประกอบของบุคลิกภาพของบุคคลไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิดเพียงอย่างเดียว หากแต่บางสิ่งบางอย่างได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างไม่ได้วันจบสิ้น จึงเห็นได้ว่าบุคลิกภาพของคนมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพได้แก่ องค์ประกอบทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ สติปัญญา และด้านสังคม ซึ่งได้มาโดยการสร้างสมจากอิทธิพลของพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และความพยามยามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน จึงอาจกล่าวได้ว่า องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ มีดังต่อไปนี้
1. อิทธิพลจากพันธุกรรม (Heredity) หมายถึง สิ่งที่เป็นลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อนหน้าโดยสามารถถ่ายทอดส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ หรือ พันธุกรรม (Heredity) คือ การถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งพันธุกรรมถือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันเบื้องต้น และเป็นเงื่อนไขกำหนดทิศทาง และขอบเขตของการพัฒนาบุคลิกภาพระดับหนึ่ง บุคลิกภาพที่ได้มาจากพันธุกรรม ได้แก่
1.1 ลักษณะทางกาย เช่น รูปร่าง หน้าตา สีผิว สีตา โรคบางอย่าง ความแข็งแรง ความอ่อนแอ น้ำเสียง ซึ่งลักษณะทางกายนี้ เป็นด่านแรกที่อาจทำผู้พบเห็นเกิดความสนใจ หรือประทับใจ
1.2 พัฒนาการทางสติปัญญา เช่น ความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบ พรสวรรค์ ฯลฯ พัฒนาการทางสติปัญญานี้นอกจากจะได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมแล้วยังร่วมด้วยบทบาทของสิ่งแวดล้อม เช่น บางคนได้รับพันธุกรรมทางสติปัญญาไม่ได้ แต่ได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นอาหาร การอบรม บรรยากาศ ความอบอุ่น การศึกษาที่ดี เหล่านี้ช่วยส่งเสริมความสามารถทางสติปัญญาได้ ในทางตรงกันข้ามถึงแม้ว่าบุคคลจะได้รับพันธุกรรมทางสติปัญญา แต่ได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี รับประทานอาหารไม่ครบหมู่ มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือได้อยู่ในสถานที่ที่ไม่ได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายนักก็จะเป็นการบั่นทอนความสามารถทางสติปัญญาได้
1.3 ลักษณะทางใจ หมายถึง เจตคติต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น อุปนิสัย ความร่าเริง ความจำ ความ    คิดอ่าน การตัดสินใจ เป็นต้น
1.4 ลักษณะทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมความรู้สึก และการกระทำต่าง ๆ ซึ่งมักเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก
ภาพที่ 1.6 อิทธิพลจากพันธุกรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่กำหนดขอบเขตของบุคลิกภาพ
จากภาพบิดามารดามีสีผมดำ ทำให้ลูกมีผมสีดำตามไปด้วย
(ที่มา: http://www.tingtong.in.th)
2. บุคลิกภาพที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม (Environment) สิ่งแวดล้อมคือ สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวบุคคล เป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิต เช่น ญาติพี่น้อง และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น วัฒนธรรม การศึกษาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการพัฒนาของบุคคล เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะดี ได้รับการอบรมที่ดี มีอาหารการกินที่ดี ก็จะได้รับการพัฒนาและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ในทางตรงกันข้ามเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่นหรือขาดการอบรมสั่งสอนที่ถูกที่ควร เด็กก็จะเติบโตในแบบที่แตกต่างไป จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อมนุษย์อยู่ในครรภ์มารดา เหมือนกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ย่อมต้องการดิน ต้องการน้ำ และต้องการปุ๋ย เมื่อเมล็ดพันธุ์เติบโตในดินที่ต่างกัน ได้รับน้ำและปุ๋ยที่ต่างกัน ก็ย่อมเติบโตมาต่างกัน แม้แต่กระทั่งเด็กแฝดที่เกิดมาในครรภ์มารดาเดียวกัน มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกัน จึงกล่าวได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพมาก สิ่งแวดล้อมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคล ได้แก่
2.1 อาหาร เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ หากเด็กเกิดมาได้รับอาหารที่ไม่ครบหมู่ด้านโภชนาการ ได้รับอาหารที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้เกิดความบกพร่องต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ในทางตรงกันข้ามถ้าเด็กได้รับอาคารครบหมู่ อาหารมีคุณภาพ เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะทำให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการด้านร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ 
ภาพที่ 1.7 อาหารจัดเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่มีส่วนในการกำหนดบุคลิกภาพของบุคคล
(ที่มา: http://health.ohojunk.com)

2.2 สิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น ความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ที่ได้รับจากบิดามารดา การอบรมสั่งสอน การลงโทษ หรือการให้รางวัล มีผลต่อการพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์และสังคม เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีความรักใคร่กลมเกลียว แบ่งเบาภาระของกันและกัน พร้อมที่จะฝ่าฟันไปพร้อมกัน และครอบครัวที่มีความพร้อมสมบูรณ์ มักเพียบพร้อมด้วยสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนามากมาย เช่น หนังสือ เกม หุ่นจำลอง รูปภาพ ของเล่น ต่าง ๆ จึงได้เปรียบเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและขาดแคลน
ภาพที่ 1.8 ความรัก ความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
(ที่มา: www.l3nr.org)

 2.3 โรงเรียนและสังคมภายนอก ละแวกบ้านที่เด็กอาศัยอยู่ โรงเรียนที่เด็กเรียน เพื่อนที่เด็กคบด้วย ล้วนมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพทั้งสิ้น การได้อาศัยอยู่ในชุมชนที่ดีมีระเบียบ ได้รับการอบรม       สั่งสอนจากโรงเรียนที่ดี มีครูเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดี และได้คบเพื่อนที่ดี เด็กก็จะได้รับสิ่งดี ๆในทางตรงกันข้าม หากเด็กได้พบแต่เพื่อนเกเร อยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม พบกับตัวอย่างที่ไม่ดี พฤติกรรมของเด็กก็จะกลายเป็นคนไม่ดีเช่นเดียวกัน
ภาพที่ 1.9 การได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจากโรงเรียน ส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดีของบุคคล
(ที่มา: http://www.palinaschool.com)

2.4 การเจ็บป่วย การเจ็บป่วยทำให้สุขภาพของเด็กเสียไป จนอาจเกิดการขาดความมั่นใจ   ไม่กล้าแสดงออก นอกจากนี้แล้วการขาดสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตก็ทำให้เด็กขาดความมั่นใจได้เช่นเดียวกัน เช่น เด็กที่สวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรก ขาดวิ่น มักถูกล้อเลียนและรู้สึกมีปมด้อย การจะช่วยขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป จึงควรช่วยกันเอาใจใส่ต่อสุขภาพของเด็กให้มากขึ้น เช่น ให้เด็กทานอาหารที่มีคุณค่า ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ อยู่ในบ้านเรือนที่สะอาด แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาด เหล่านี้จะส่งผลให้เด็กเกิดความภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
ภาพที่ 1.10 เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ การแต่งกายสะอาด สมวัย
จะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเอง ส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดีในอนาคต
(ที่มา: www2.nestle.co.th)

2.5 ประสบการณ์ เป็นสิ่งที่บุคคลได้ประสบหลังจากที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดา ซึ่ง   แต่ละคนได้รับทั้งประสบการณ์ที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้
2.5.1 ประสบการณ์ร่วม คือ ประสบการณ์ที่คนอยู่ในแวดวงเดียวกันได้รับเหมือนกัน เช่น ค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรม บทบาททางเพศ ความเชื่อ ศาสนา ซึ่งก็จะทำให้คนในสังคมเดียวกันปฏิบัติเหมือน ๆ กันหากปฏิบัติผิดไปจากนี้จะถูกมองว่าแปลกออกไปจากกลุ่ม
ภาพที่ 1.11 การนับถือศาสนาที่แตกต่าง ทำให้การแต่งกายแตกต่างกันออกไป
(ที่มา: http://sci.skru.ac.th)

2.5.2 ประสบการณ์เฉพาะอย่าง คือ บุคคลย่อมมีประสบการณ์เฉพาะอย่างที่แตกต่าง    กันออกไป ประสบการณ์ที่เขาได้รับในช่วงชีวิตหนึ่ง อาจเป็นประสบการณ์ที่ทุกข์ระทม เช่น บ้านถูก      ไฟไหม้ ประสบอุบัติเหตุ ได้รับภัยจากธรรมชาติจนทำให้ครอบครัวหมดตัวและต้องจากบุคคลอันเป็น ที่รัก บางคนเคยได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจ เช่น ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันต่าง ๆ ได้พบบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งพลัดพรากจากกันมานาน ฯลฯ เหล่านี้มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพทั้งสิ้น
ภาพที่ 1.12 ประสบการณ์เฉพาะอย่างในด้านที่ดี มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคลทำให้มีความมั่นใจ
(ที่มา: http://www.vec.go.th)

2.5.3 ความพยายามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล บุคลิกภาพที่ได้รับจากพันธุกรรมหรือได้รับจากสิ่งแวดล้อมนั้น บางครั้งอาจยังมีข้อบกพร่องที่จะต้องได้รับการปรับปรุงบุคคลจึงพยายามจะให้ปรับเพื่อให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น เช่น ผู้ที่เกิดมาร่างกายอ่อนแอก็จะพยายามออกกำลังกายรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ หรือเมื่อคนเราได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ความคิด ค่านิยม หรือเจตคติอาจเปลี่ยนไป เช่น บางคนเกิดมาในสังคม     อันไม่พึงประสงค์ทำให้พฤติกรรมเบี่ยงเบนไป ต่อมาอาจมองเห็นพฤติกรรมเลวร้ายของตนจึงกลับตัวเป็นคนดี บางคนเมื่อได้เข้าสังคมและได้รับคำทักท้วงจากเพื่อน หรือครู อาจารย์ชี้ให้เห็นถึงบุคลิกภาพส่วนที่บกพร่อง ก็จะปรับปรุงส่วนที่บกพร่องนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าบุคลิกภาพเป็นส่วนที่สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ เช่น คนที่ใจร้อนอาจทำให้ใจเย็นลง คนที่ชอบเอะอะโวยวายอาจปรับปรุงให้มีความสุขุมมากขึ้น คนที่เห็นแก่ตัวอาจรู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนอ้วนก็ทำให้ผอมลงได้ หรือคนผอมก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงที่จะพยายามปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน
ภาพที่ 1.13 การออกกำลังกาย ถือเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล
(ที่มา: http://www.beautyfullallday.com)

แนวความคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพ 
1. บุคลิกภาพเป็นผลรวมจากพันธุกรรมและประสบการณ์ของบุคคล
2. บุคลิกภาพต้องมีการเสริมสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
3. บุคลิกภาพต้องการใช้เวลาในการหล่อหลอมเป็นระยะเวลานาน ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาสั้น
4. บุคลิกภาพพื้นฐานของบุคคลจะถูกหล่อหลอมในช่วงอายุแรกเกิด ถึง 6 ขวบ หรือวัยเด็กตอนต้น
5. บุคลิกภาพไม่ใช่สิ่งที่คงที่ตายตัว แต่สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้
6. ไม่มีบุคคลใดมีบุคลิกภาพเหมือนกันทุกประการ
7. ไม่มีบุคลิกภาพของบุคคลใดที่สมบูรณ์พร้อมจนไม่มีทางปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีขึ้นอีกได้
8. บุคลิกภาพ หมายรวมถึงลักษณะทางกายและจิตร่วมกัน และมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรอบรู้ อารมณ์และการกระทำ ซึ่งออกมาเป็นลักษณะนิสัย
9. บุคลิกภาพมีผลโดยตรงทั้งเชิงบวกและลบต่อองค์กรธุรกิจ การงานหรือสะท้อนเป็นภาพพจน์ของหน่วยงานและองค์กร
10. บุคลิกภาพมีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของบุคคล ทั้งส่วนตน ครอบครัว การงาน และการดำเนินชีวิต ดังกล่าวว่า
If wealth is lost, nothing is lost. หากสูญเสียทรัพย์สินสมบัตินับว่าไม่ได้สูญเสียอะไร
If health is lost, something is lost. หากสุขภาพเสื่อมโทรม แสดงว่าเริ่มสูญเสียบางอย่าง
If character is lost, all is lost. หากสูญเสียบุคลิกภาพ นั่นหมายถึงสูญสิ้นทุกอย่าง
ภาพที่ 1.14 บุคลิกภาพดี นำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน
(ที่มา: http://www.platformbook.net)

       ประเภทของบุคลิกภาพ
นักวิชาการ นักจิตวิทยา นักมนุษยสัมพันธ์ ได้แบ่งประเภทของบุคลิกภาพ ดังนี้
1. บุคลิกภาพภายนอก เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนและสามารถปรับปรุงได้ ได้แก่
1.1 รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ รูปร่าง ได้แก่ อ้วน ผอม เตี้ย สูง หน้าตานั้นรวมไปถึงการแสดงออกทางสีหน้าด้วย เช่น ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ใบหน้าบูดบึ้ง ส่วนผิวพรรณ ได้แก่ ผิวขาว ผิวดำ ผิวดำแดง ผิวสีแทน เป็นต้น
1.2 การพูดจาและน้ำเสียง การแสดงออกทางวาจา เช่น พูดจาสุภาพ นุ่มนวล หยาบคาย     พูดชัดถ้อยชัดคำ พูดไม่ชัด บางคนเสียงเบา หรือบางคนเสียงดัง เป็นต้น
1.3 การแต่งกาย บางคนแต่งกายเรียบร้อย ประณีต ทันสมัย เหมาะสมกับโอกาส กาลเทศะ บางคนมักแต่งกายด้วยสีสันฉูดฉาด เป็นต้น
1.4 กิริยาท่าทาง การแสดงออกทางอากัปกิริยา ท่าทางการยืน เดิน นั่ง การพูด การมอง     การทำงาน เป็นต้น
บุคลิกภาพภายนอกของบุคคลมีความแตกต่างกัน ดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ว่า
            ฝูงชนกำเนิดคล้าย                                 คลึงกัน
                     ใหญ่ ย่อม เพศ ผิวพรรณ                                          แผกบ้าง
                       ความรู้อาจเรียนทัน                                  กันหมด
                       ยกแต่ชั่วดีกระด้าง                                    อ่อนแก้ฤาไหว
หมายความว่า คนเราเกิดมานั้นมีความคล้ายคลึงกัน จะมีที่แตกต่างกันคือ บางคนรูปร่างใหญ่ บางคนรูปร่างเล็ก มีความแตกต่างกันเรื่องเพศ คือมีทั้งเพศชายและเพศหญิง ผิวพรรณหรือสีของผิวก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน บางคนผิวหยาบ บางคนผิวละเอียด บางคนผิวขาว บางคนขาวเหลือง เป็นต้น
2. บุคลิกภาพภายใน เป็นพฤติกรรมที่สามารถมองเห็นได้ เป็นเรื่องที่ต้องสังเกต เช่น ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความกระตือรือร้น ความรอบรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตและมองเห็นได้ยากมาก ซึ่งบางคนอาจแสดงว่าเป็นคนที่มีจิตใจดี แต่แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นคนใจร้าย ใจดำก็ได้ ดังกล่าวที่ว่า จิตมนุษย์นี้ไซร้ยากแท้หยั่งถึง
ทั้งบุคลิกภาพภายนอกและภายใน ครอบคลุมถึงลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
1. อุปนิสัย (Character) หมายถึง การแสดงพฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลที่ทำอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นนิสัย เช่น ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความเมตตากรุณา ความโอบอ้อมอารี เป็นต้น
2. อัธยาศัย (Temperate) หมายถึง กิริยาที่แสดงออกพร้อมอารมณ์ เช่น ความสุขุม เยือกเย็น ความอิจฉาริษยา ความโกรธ เป็นต้น
3. ความสามารถ (Ability) หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เฉพาะในตัวบุคคลและพร้อมที่จะแสดงออกได้ เมื่อต้องการหรือโอกาส เช่น ระดับเชาวน์ปัญญา การคิดคำนวณเก่ง การร้องเพลงไพเราะ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การกล้าตัดสินใจ เป็นต้น
4. ความสนใจ (Interest) หมายถึง ความรู้สึกที่แสดงถึงแนวโน้มที่จะเข้าหาสิ่งเร้านั้น ๆ ของ   แต่ละบุคคล เช่น การไปชมรายการฟุตบอล แสดงถึงความสนใจในกีฬาฟุตบอล การไปชมคอนเสิร์ต แสดงถึงความสนใจด้านดนตรี เป็นต้น
5. สุขภาพร่างกายหรือโครงสร้างทางร่างกาย (Physical construction) หมายถึง ลักษณะภายนอกของบุคคลที่มองเห็นได้ง่าย เช่น สูง เตี้ย ผอม อ้วน เป็นต้น
ภาพที่ 1.15 ความสนใจที่แตกต่างกัน จะส่งผลทำให้พฤติกรรมแตกต่างกันเป็นบุคลิกภาพเฉพาะคน
(ที่มา: http://www.bloggang.com)

         การศึกษาพฤติกรรมจากบุคลิกภาพของคน
มีหลายคนกล่าวว่า หน้าตา และรูปร่างของคนสามารถที่จะบ่งบอกถึงนิสัยได้ วิลเลี่ยมเชลดอน(William Sheldon) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ศึกษาเกี่ยวกับรูปร่างของคนที่มีผลต่ออุปนิสัย โดยแบ่งคนออกเป็น 3 ประเภท ตามรูปร่างและอุปนิสัย ดังนี้
ประเภทที่ 1 คนรูปร่างท้วม อ้วน (Endomorphy) ลำตัวมีขนาดกลม รูปร่างไม่ดี มีน้ำหนักมาก  มีความเชื่องช้า อืดอาด รับประทานอาหารมาก ชอบการนอนและการกิน ชอบให้ร่างกายสบาย ไม่ชอบพิธีการ มีเพื่อนมาก เข้ากับคนคนง่าย ชอบการเข้าสมาคม อารมณ์คงที่มีความอดทนและเป็นบุคคลที่มีความสุข
ประเภทที่ 2 รูปร่างล่ำสัน (Mesomorphy) ลักษณะรูปร่างแข็งแรง มีมัดกล้ามเนื้อ มีการพัฒนาทางร่างกายมีกล้ามเนื้อแข็งแรงมองดูดี มีเพื่อนมาก มีความสุข มีคนชอบมาก มีความประณีต มีความเร็วชอบช่วยเหลือบุคคลอื่น มีลักษณะรูปร่างแบบนักกีฬา ชอบการต่อสู้ มีพลังชอบการผจญภัย ชอบการออกกำลังกาย และมีความกล้าหาญ
ประเภทที่ 3 รูปร่างผอม (Ectomorphy) มีลักษณะรูปร่างที่กล้ามเนื้อและกระดูกยังไม่ได้รับการพัฒนา หน้าอกแบนราบ ลำตัวมีขนาดบางและอ่อนแอ ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ มีน้ำหนักเบารับประทานอาหารได้น้อย ชอบความเงียบ มีความวิตกกังวลใจ มีความหวาดกลัว ไม่ชอบการต่อสู้        มีคุณสมบัติที่มีจิตสำนึกของตัวเอง มีอารมณ์อ่อนไหว มีความกังวลใจ ชอบอยู่ตามลำพัง ชอบการใช้ความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ
ตามทฤษฏีบุคลิกภาพที่วิลเลี่ยมเชลดอนจำแนกรูปร่างบุคคลไว้ทั้ง 3 รูปแบบ เราจะพบว่ามีบุคคลเป็นจำนวนน้อยมากที่มีรูปร่างเหมือน แต่ก็ยังมีบุคคลอีกเป็นส่วนใหญ่ที่มีรูปร่างไม่เหมือน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญและควรระลึกว่าบุคคลส่วนมากจะมีรูปร่างแบบผสมตามทฤษฎีบุคลิกภาพของวิลเลี่ยมเชลดอน

          พัฒนาการด้านบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพที่หล่อหลอมเรื่อยมาตั้งแต่เกิดจนตายนั้น มีพัฒนาการตามความเจริญเติบโตตามช่วงอายุหรือตามวัย ดังต่อไปนี้
1. วัยทารก (Infant)
อายุแรกเกิดถึง 2 ขวบ เป็นพัฒนาการด้านบุคลิกภาพของมนุษย์ในการวางรากฐานของชีวิตซึ่งได้รับอิทธิพลจากครอบครัวโดยเฉพาะผู้เลี้ยงดู เว้นแต่ทารกที่ได้รับการเลี้ยงดูจากสถานเลี้ยงดู (Nursery) พฤติกรรมก็จะต่างออกไป
 อิทธิพลที่มีผลต่อบุคลิกภาพของทารกมีดังนี้
1. ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว เช่น ระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อลูก ระหว่างพ่อและแม่เอง ถ้าเด็กพบว่าครอบครัวมีการทะเลาะเบาะแว้งเป็นประจำ ขัดแย้งและทำร้ายซึ่งกันและกัน หรือพ่อแม่   เลิกกัน เด็กจะเกิดความเครียดในจิตใจ ปราศจากความสุข ขาดความอบอุ่นก็จะมีพฤติกรรมแสดงออกเรียกร้องความสนใจด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่เคารพพ่อแม่ หรือเฝ้าสงสารตัวเอง
2. วิธีเลี้ยงดูและการอบรมในวัยเด็ก บางครอบครัวเลี้ยงดูบุตรด้วยวิธีเผด็จการเข้มงวด คือ  รับคำสั่งและทำตามอย่างเดียวไม่ให้แสดงความคิดเห็น บางครอบครัวเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย        บางครอบครัวเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย ผลที่มีต่อเด็กคือ
2.1 การเลี้ยงดูแบบเข้มงวดหรือเผด็จการ เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักตน เด็กจะกลายเป็น    คนขี้กลัว คือกลัวผู้ปกครองจนลนลาน หรือต่อต้านอำนาจ หรือว่าฝืนคำสั่งจนกลายเป็นคนดื้อด้าน
2.2 การเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย คือผู้ปกครองเข้าใจความต้องการและให้อิสระตามสมควร ไม่ลงโทษด้วยวิธีเฆี่ยนตีมากนัก เด็กจะมีการปรับตัวที่ดี เป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก และเชื่อมั่น ในตัวเอง
2.3 การเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย พ่อแม่มักตามใจเด็กทุกเรื่อง ผลที่เกิดกับเด็ก คือเด็กจะเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ทำอะไรเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ ไม่มีระเบียบวินัย เป็นต้น
3. ความสม่ำเสมอในการเลี้ยงดู พ่อแม่ควรปฏิบัติต่อเด็กสม่ำเสมอ เช่น การให้ความรักความ เอาใจใส่ ถ้าทำบ้างไม่ทำบ้างจนเด็กจับสังเกตไม่ได้ เด็กจะเกิดไม่แน่ใจว่าตนเป็นที่รักที่ต้องการของ   พ่อแม่หรือไม่
4. พ่อแม่ควรให้ความรัก ความเอาใจใส่ต่อลูกเท่ากัน ถ้ามีลูกหลายคน การเลือกที่รักมักที่ชัง   จะทำให้เด็กเกิดปมด้อยและความอิจฉาริษยา
5. พ่อแม่ควรหาโอกาสให้เด็กได้คุ้นเคยกับคนแปลกหน้าบ้าง เด็กจะได้ไม่ขี้อาย กล้าแสดงออก ซึ่งเป็นการสร้างพัฒนาการทางสังคมแก่เด็ก
ภาพที่ 1.16 การดูแลเอาใจใส่ของพ่อและแม่ตั้งแต่ทารก ส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
(ที่มา: http://www.thisisfamily.org)

2. วัยเด็กตอนต้น (Children)
เด็กอายุระหว่าง 3-5 ปี เป็นวัยที่เด็กจะลอกเลียนแบบพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัว เช่นพฤติกรรม ทัศนคติ อารมณ์ ค่านิยม เป็นวัยที่เด็กผูกพันกับครอบครัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ ถ้าเด็กประสบปัญหาครอบครัวในวัยนี้ เช่น พ่อหรือแม่จากเด็กไปนาน ๆ พ่อแม่เลิกกัน จะมีผลต่อจิตใจของเด็กมาก เด็กจะมีอาการขาดความสุข ก้าวร้าว เรียกร้องความสนใจ หรือเงียบไม่พูดจากับใคร เป็นต้น
ความคิดเห็นของเด็กวัยนี้ ค่อนข้างจะมีความคิดเห็นต่อตัวเองว่า ตนมีความสามารถมากน้อย แค่ไหน ตนเป็นคนดีหรือไม่ ผู้ปกครองต้องไม่ตั้งระดับความหวังต่อเด็กไว้สูงเกินไป ถ้าเด็กไม่สามารถทำได้ เด็กจะท้อใจและหมดกำลังใจ เด็กเป็นปมด้อย หากพ่อแม่ฝึกหัดให้เด็กทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีของน้อง หรือช่วยเหลือครอบครัวด้วยการเลี้ยงดูน้อง จะทำให้เด็กมีความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ปรากฏชัดในวัยนี้ คือลักษณะการเป็นผู้นำ การเป็นผู้ตาม       ชอบสังคม หนีสังคม และบุคลิกภาพตามเพศของตัวเอง จากการอบรมของครอบครัว เช่น เด็กผู้ชายให้ลักษณะผู้นำ ปราดเปรียว เด็กผู้หญิงให้ว่าง่าย เชื่อฟัง อ่อนหวาน เรียบร้อย ถ้าเด็กในวัยนี้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น เพื่อนแกล้งจะทำให้เขาเกลียดสังคมและกลายเป็นคนเก็บตัวไปในที่สุด
ภาพที่ 1.17 เด็กที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว จะมีพฤติกรรมกล้าแสดงออก
(ที่มา: http://board.postjung.com)

3. วัยรุ่นตอนต้น (Early Adolescence)
เด็กวัย 13-16 ปี ถือว่าเข้าสู่วัยรุ่น เด็กในวัยนี้มีเรื่องบุคลิกภาพเกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อตนเอง เช่น ความไม่พอใจ ไม่เข้าใจตัวเอง เพราะพัฒนาการทางด้านร่างกายยังไม่พัฒนาไปถึงขีดสุด เด็กมักจะกังวลอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์จากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเด็กจะต้องปรับตัวอีกระดับหนึ่ง จึงทำให้กริยาอาการเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งจะโดนผู้ใหญ่ดุว่า โตแล้วจะทำเป็นเด็ก เขาจึงว้าวุ่นและสงสัยว่าอะไรคือความพอดี การที่เด็กวัยนี้มีปัญหาส่วนตัวและสังคม ทำให้เขาขาดความเชื่อมั่นในตัวเองในเรื่องความสามารถการยอมรับจากผู้อื่น จึงทำให้วัยรุ่นแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปแบบปฏิเสธ ไม่ยอมรับสิ่งต่าง ๆ พยายามขัดคำสั่งและหาข้อแก้ตัวมาอ้างเสมอ
4. วัยรุ่นตอนปลาย (Late Adolescence)
            อายุตั้งแต่ 17-21 ปีบุคลิกภาพโดยทั่ว ๆ ไปจะเริ่มดีขึ้น เลิกกังวลกับตัวเองลงเพราะผู้ปกครองเริ่มให้อิสระมากขึ้น ตัวเขาก็เริ่มมีวิจารณญาณที่ดีขึ้น เข้าใจผู้อื่นมากขึ้นมีเหตุผล รู้จักเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และแก้ไขบุคลิกภาพของตัวเองให้ดีขึ้น
            สิ่งที่มีส่วนในการปรับปรุงบุคลิกภาพของวัยรุ่นตอนปลาย คือ
1. การรู้จักตัวเองมากขึ้น และยอมรับความเป็นจริง พร้อมจะแก้ไขข้อบกพร่องและรักษาส่วนที่ดีของตัวเอง
2. การมีความเชื่อมั่นในตัวเอง คือความคิดเห็นที่มีต่อตนเองที่มั่นคงขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงตาม
อารมณ์ตลอดเวลา
3. การมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ด้วยเหตุผลว่า ประสบความสำเร็จตามความสามารถของตน และการที่ผู้ใหญ่พยายามเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เหมาะกับความถนัด ความสามารถและความสนใจของเขา
       ลักษณะของบุคลิกภาพที่ดี
 ลักษณะของบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่ดีนั้นเป็นที่ปรารถนาของสังคม บุคคลที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ย่อมเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของบุคคลในสังคมสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และทัศนคติของคนโดยทั่วไปเห็นว่าบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่ดีนั้น จะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่ง            สถิต วงศ์สวรรค์ (2551 : 215) ได้สรุปลักษณะของบุคลิกภาพที่ดี ดังนี้
1. ท่าทางสง่างามมีลักษณะท่าทางที่ดี มีลักษณะทางร่างกายสง่า กระฉับกระเฉงคล่องแคล่วว่องไว
2. มีสุขภาพที่ดีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
3. ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ดีในทุกกาลเทศะ เป็นบุคคลที่มีความสามารถ     สร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลทั่วไป และเป็นบุคคลที่ปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นได้ดี
4. เป็นคนที่มีเหตุมีผลละเอียดอ่อน สุขุมรอบคอบ
5. เป็นคนมีความอดทน มีกำลังใจกล้าเผชิญกับอุปสรรคและภาวะคับขัน สามารถที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยไม่หวั่นไหว
6. เป็นตัวของตัวเองกล้าตัดสินใจ กล้าคิด ไม่คอยแต่จะพึ่งพาผู้อื่น รู้จักช่วยเหลือตัวเองเมื่อเกิดสถานการณ์คับขัน กล้าพูดความจริงกล้ายอมรับความจริง ยิ้มได้เมื่อมีภัยมา กล้าเผชิญความจริงและเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์
7. มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่เป็นคนขี้อายเป็นคนที่มีความสามารถตัดสินใจได้อย่างฉับพลันไม่มีจิตใจเรรวน สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีลักษณะของความเป็นผู้นำเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้อื่น
8. ไม่มองโลกในแง่ร้ายเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
9. ไม่เห็นแก่ตัวเอาเปรียบผู้อื่น รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น
10. มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
11. มีความกระตือรือร้น ใฝ่หาความรู้และรักความก้าวหน้า
12. มีความสุภาพเรียบร้อย กิริยามารยาทดี วาจาท่าทางที่แสดงออกมีวาทศิลป์ในการพูด พูดจาไพเราะไม่หยาบคาย ให้เกียรติผู้อื่นถือว่าเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
13. มีความสงบเสงี่ยมรู้จักอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ตื่นเต้นไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์   ต่าง ๆ ง่ายเกินไป มีสติที่ดีและรู้จักบังคับจิตใจตนเอง
14. มีความร่าเริงสดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอเป็นคนที่มีอารมณ์ดีจิตใจดี ปรับตัวให้เข้ากับบุคคล     ทุกระดับใคร ๆ ก็พอใจอยากพบเห็นและคบหาสมาคมด้วย
15. รู้จักกาลเทศะรู้จักจังหวะเวลาและสถานที่
16. มีความซื่อสัตย์สุจริต
17. ยิ้มเป็น สีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นนิจ
18. มีประสบการณ์ที่หลากหลายต้องเข้าใจโลกเข้าใจชีวิต
สรุปสาระสำคัญ
 บุคลิกภาพ หมายถึงแบบแผนพฤติกรรมของบุคคลซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ที่แสดงออกทั้งด้านความคิด ความรู้สึก ความสนใจ สติปัญญา รวมทั้งทางด้านสรีระ บุคลิกภาพภายนอกและภายใน  ทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ บุคลิกภาพของบุคคลเป็นผลมาจากพันธุกรรม (Heredity) และสิ่งแวดล้อม (Environment)
เพื่อเป็นการสร้างเสน่ห์และช่วยเสริมความเจริญก้าวหน้าทางด้านอาชีพ บุคคลจะต้องมี        การปรับปรุงและพัฒนาบุคลิกภาพทั้งบุคลิกภาพภายนอก ได้แก่ รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ การพูดจา  การแต่งกาย และกิริยาท่าทาง รวมถึงบุคลิกภาพภายใน ได้แก่ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความกระตือรือร้น และความรอบรู้
คำศัพท์ (Vocabulary)
คำศัพท์
คำแปล
คำศัพท์
คำแปล
Personality
บุคลิกภาพ
Character
อุปนิสัย
Heredity
พันธุกรรม
Emotion
อารมณ์
Environment
สิ่งแวดล้อม
Encouragement
กำลังใจ
Confident
ความมั่นใจ
Sociability
การสมาคม
Success
ความสำเร็จ
Temperate
อัธยาศัย
Self-confident
ความเป็นตัวของตัวเอง
Ability
ความสามารถ
Individual differences
การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
Interest
ความสนใจ
Adaptation
การปรับตัว
Physical construction
โครงสร้างทางร่างกาย
Acceptance
การยอมรับของกลุ่ม
Infant
วัยทารก
The expected behavior
การคาดหมายพฤติกรรม
Nursery
สถานเลี้ยงดู
Physical characteristics
ลักษณะทางกาย
Children
วัยเด็กตอนต้น
Flattering styles
ลักษณะการพูดจาท่าทาง
Early Adolescence
วัยรุ่นตอนต้น
Psychological characteristics
ลักษณะทางจิตใจ
Late Adolescence
วัยรุ่นตอนปลาย




ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ

ใบงานที่             1.1
เรื่องที่ศึกษา       องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ
วัตถุประสงค์      อธิบายองค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพได้
คำชี้แจง            1. ให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อน
2. ช่วยกันหาข่าว 1 ข่าว ติดลงในกระดาษ เอ 4
3. เขียนรายละเอียดที่มาของข่าววันเดือนปี และเหตุผลในการเลือก
4. ช่วยกันอธิบายเหตุผลเป็นข้อ ๆ ว่า บุคคลในข่าวมีบุคลิกภาพซึ่งได้มาโดยการ
                               สร้างสมจากอิทธิพลของหัวข้อต่อไปนี้อย่างไร
4.1 พันธุกรรม
4.2 สิ่งแวดล้อม
4.3 ความพยามยามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน
5. นำผลงานเสนอหน้าชั้นเรียน
6. ครูและเพื่อน ๆ ร่วมกันประเมินผลงาน
7. นำผลงานส่งครู
รายละเอียด
ที่มาของข่าว                   ………………………………………………………………………….
วันเดือนปี                      ………………………………………………………………………….
เหตุผลในการเลือก          ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
บุคลิกภาพได้มาจาก         ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….



ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
ใบงานที่             1.2
เรื่องที่ศึกษา       ลักษณะของบุคลิกภาพที่ดี
วัตถุประสงค์      อธิบายลักษณะของบุคลิกภาพที่ดีได้
คำชี้แจง             1. ให้นักเรียนจับคู่กับเพื่อน
2. ช่วยกันหาภาพของบุคคลที่นักเรียนคิดว่ามีบุคลิกภาพที่ดีติดลงในกระดาษ เอ 4
3. เขียนรายละเอียด ชื่อ สกุล อายุ อาชีพ และเหตุผลในการเลือก
4. ช่วยกันอธิบายว่าบุคคลในภาพมีลักษณะบุคลิกภาพที่ดีอย่างไรจำนวน 10 ข้อ
5. นำผลงานเสนอหน้าชั้นเรียน
6. ครูและเพื่อน ๆ ร่วมกันประเมินผลงาน
7. นำผลงานส่งครู
ภาพบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่ดี
ชื่อ-สกุล                        ………………………………………………………………………….
อายุ                               ………………………………………………………………………….
อาชีพ                            ………………………………………………………………………….
เหตุผลในการเลือก          ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
ลักษณะบุคลิกภาพที่ดี      ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….
                                    ………………………………………………………………………….

แบบประเมินผล (สำหรับนักเรียนประเมินตนเอง)
คำชี้แจง  ให้นักเรียนเขียนเครื่องหมาย ü ลงในช่องคะแนนให้ตรงกับความเป็นจริง
1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. มีวินัย
1.1 มีการวางแผนการทำงานและจัดระบบการทำงาน



1.2 ทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่วางไว้



1.3 ตรวจสอบความถูกต้อง ความเรียบร้อย คุณภาพของงาน



2. มีความรับผิดชอบ
2.1 ยอมรับผลการกระทำของตนเองทั้งผลดีและผลเสีย



2.2 ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์



2.3 ทำงานได้ตามกำหนดเวลา ตรงต่อเวลา



3. สนใจใฝ่รู้
3.1 มีความกระตือรือร้นและสนใจที่จะแสวงหาความรู้



3.2 ซักถาม ฟัง หรือสนทนาด้วยความสนใจ



3.3 มีความสุขที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้



4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4.1 คิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดประโยชน์ และพัฒนางานอยู่เสมอ



4.2 แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้



4.3 มีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดี



5. มีความผูกพัน   จิตสาธารณะ
5.1 เสียสละ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่



5.2 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน



5.3 แสดงกิริยาสุภาพ อ่อนน้อม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 45 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 9 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน


2. ด้านทักษะ กระบวนการ
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. การคิด
1.1 ใช้วิธีการสื่อสารในการนำเสนอข้อมูลได้เหมาะสม



1.2 เลือกข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



1.3 สรุปความคิดรวบยอดและสาระสำคัญของเรื่องที่เรียนได้



2. การแก้ปัญหา
2.1 ตั้งคำถามเรื่องที่จะศึกษาได้อย่างเป็นระบบ



2.2 รวบรวมข้อมูลความรู้ ได้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ



2.3 นำข้อมูลความรู้ที่ได้รับไปใช้แก้ปัญหาได้



3. การสื่อสาร
3.1 ใช้วิธีการสื่อสารนำเสนอข้อมูลได้อย่างเหมาะสม



3.2 เลือกรับข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



4. การใช้เทคโนโลยี
4.1 ค้นคว้าข้อมูลความรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง



4.2 เลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีคุณธรรม



5. ทักษะกระบวนการกลุ่ม
5.1 มีส่วนร่วมในการวางแผนและแบ่งหน้าที่ของกลุ่ม



5.2 เป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในการทำงานกลุ่ม



5.3 ภูมิใจและพอใจในผลงานและการทำงานกลุ่ม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 39 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 7.8 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน