บทที่ 6 มารยาททางสังคม

           แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
มารยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ ส่วนคำว่า มารยาทในสังคมจะหมายถึงกรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่ามารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดีด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม
การแสดงมารยาทที่ดีเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ บุคคลจึงควรเรียนรู้ถึงมารยาทไทยที่พึงปฏิบัติ   อันเป็นมารยาทที่อ่อนช้อย งดงาม เป็นที่ประทับใจแก่บุคคลทั่วโลก นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเกี่ยวกับการปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ เพื่อการแสดงออกที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นที่น่าชมเชยแก่ผู้พบเห็น
หัวข้อเรื่อง (Topics)
1. ความหมายของกิริยามารยาท
2. ความสำคัญของกิริยามารยาท
3. มารยาทพื้นฐานทางสังคม
4. มารยาทการทำความเคารพแบบไทย
5. การฝึกกิริยามารยาทในการรับประทานอาหาร
6. มารยาทการรับประทานอาหารแบบไทย
7. มารยาทการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่
8. มารยาทการรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีน
9. มารยาทการรับประทานอาหารแบบยุโรป
10. มารยาทการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น
 สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
1. แสดงความรู้เกี่ยวกับมารยาททางสังคม
2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับมารยาททางสังคม
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
1. อธิบายความหมายของกิริยามารยาทได้
2. อธิบายความสำคัญของกิริยามารยาทได้
3. อธิบายมารยาทพื้นฐานทางสังคมได้
4. บอกมารยาทการทำความเคารพแบบไทยได้
5. อธิบายการฝึกกิริยามารยาทในการรับประทานอาหารได้
6. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบไทยได้
7. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ได้
8. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีนได้
9. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบยุโรปได้
10. อธิบายมารยาทการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่นได้





เนื้อหา

คำว่ามารยาท หมายถึงการแสดงออกทางกาย วาจาและใจ ถ้าไปในทางที่สุภาพเรียบร้อย ก็ถือว่ามีมารยาทดี การมีมารยาทดีเปรียบเสมือนมีอาภรณ์ประดับกายที่งดงาม เป็นที่ชื่นชนและยอมรับของบุคคลรอบข้าง ผู้ที่มีมารยาทดีมักประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน เนื่องจากได้รับการยอมรับและเชื่อถือทางสังคม การมีมารยาทดีจึงเปรียบเสมือนในเบิกทางไปสู่ความสำเร็จ บุคคลทั่วไปจึงควรเรียนรู้ความมีมารยาท เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ความหมายของกิริยามารยาท
            กิริยา หมายถึง การกระทำ อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย
            มารยาท หมายถึง กิริยา วาจาที่สุภาพเรียบร้อย ที่บุคคลพึงปฏิบัติในสังคม โดยมีระเบียบแบบแผนอันเหมาะสมตามกาลเทศะ
            กิริยามารยาท หมายถึง อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย วาจาที่สุภาพเรียบร้อย มีการประพฤติปฏิบัติในขอบเขตที่เหมาะสม มีระเบียบแบบแผนถูกต้องตามกาลเทศะและลักษณะของสังคม
ความสำคัญของกิริยามารยาท
            มารยาทย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงลักษณะนิสัยภายในของบุคคล และเป็นค่านิยม การแสดงออกด้วยความอ่อนน้อม ดีงาม สามารถสร้างความยินดีและความประทับใจให้ประจักษ์แก่ผู้พบเห็น หรือผู้ติดต่อสมาคมด้วยการเป็นผู้มีกิริยามารยาทดีงามและรู้จักวางตัวให้เหมาะสมกับสังคม ย่อมเป็นผู้ที่มีเสน่ห์ เป็นที่รักและชื่นชอบของผู้อื่น ทั้งยังดูมีคุณค่าในตัวเองด้วย จึงสรุปได้ว่ากิริยามารยาทมีความสำคัญ ดังนี้
1. สามารถครองใจคนได้ กิริยาสุภาพ พูดจาถูกกาลเทศะย่อมเป็นที่นิยมรักใคร่ของบุคคลทั่วไป
2. ทำให้มีระเบียบแบบแผน ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดี
3. ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีสามารถถ่ายทอด อบรมสู่บุตรหลานเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง
4. ทำให้ส่งเสริมพัฒนาบุคลิกภาพให้งดงามน่าเลื่อมใสได้
5. เป็นตัวบ่งชี้ให้ทราบพื้นฐานของชาติตระกูล การอบรม การศึกษาและอาชีพ
            ดังนั้น บุคคลควรแสดงกิริยามารยาทที่ดีงามออกมาเพื่อคุณค่าของตัวเอง และควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องหลักของมารยาทต่าง ๆ ให้ทันกับการพัฒนาของสังคมโลก  
มารยาทพื้นฐานทางสังคม
1. มารยาทในการทักทาย การทักทายกันระหว่างบุคคล ที่เป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นบุคคลบ้านใกล้เรือนเคียงหรือบุคคลทั่วไป นับเป็นสิ่งหนึ่งในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ เพราะคนเป็นสัตว์สังคม มีการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น การสร้างมนุษย์สัมพันธ์กัน จึงเป็นลักษณะธรรมชาติที่ทุกคนจะต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในครอบครัว การทำงาน ทุกคนจะต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงต้องเรียนรู้ถึงการปฏิบัติตนว่าอะไร ควรทำหรือไม่ควรทำ มารยาทในการทักทายนั้น มีหลักง่าย ๆ แต่ต้องพึงระวังดังต่อไปนี้
1.1 เริ่มที่ตนเองโดยการเข้าไปทักทายผู้อื่นก่อนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม
1.2 ทำความเคารพ ตามแบบของบุคคลที่เราเข้าไปทักทาย เช่น คนไทยใช้การไหว้ คนญี่ปุ่นใช้การโค้งคำนับ เป็นต้น
1.3 รู้จักกาลเทศะ หากทักทายกับผู้คนในสถานที่มีความเงียบให้ใช้วิธีการไหว้ ก้มศีรษะ หรือใช้วิธีการที่เงียบ ถ้าพบผู้อาวุโสโบกมือให้ ให้ก้มศีรษะรับการทักทาย ห้ามโบกมือตอบ
1.4 ใช้คำพูดที่สุภาพรื่นหูในการทักทาย ควรทักทายด้วยการให้เกียรติ คำพูดมีหางเสียงรู้จักพูดจาอ่อนน้อมถ่อมตนกับผู้อาวุโส ถ้าเป็นเพื่อนหรือคนรุ่นเดียวกันก็ต้องให้เกียรติ ไม่พูดคำหยาบคาย
ภาพที่ 6.1 การทักทายโดยการไหว้
(ที่มา: http://www.asian-tp.com)
2. มารยาทต่อคนในครอบครัว ครอบครัวของคนไทยให้เกียรติและให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่ในครอบครัวของคนไทย ถ้าครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวใหญ่ก็จะประกอบด้วย พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และลูกหลานซึ่งอาจจะอยู่รวมกัน มารยาทและการให้เกียรติซึ่งกันและกันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงพ่อแม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่คอยอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ มาตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งทุกคนควรจะให้ความเคารพนับถือแสดงความกตัญญู ลูก ๆ ควรที่จะได้ปฏิบัติตนต่อพ่อแม่ในสิ่งต่อไปนี้
2.1 จดจำวันเกิด หรือวันสำคัญของคนในครอบครัวให้ได้
2.2 กล่าวคำทักทายและบอกลา พ่อแม่ เมื่อตื่นนอน และก่อนเข้านอน
2.3 หากต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน ควรบอกกล่าวให้พ่อแม่ได้รับทราบ
2.4 หาเวลาในการรับประทานอาหาร และพูดคุยเป็นประจำสม่ำเสมอ
ภาพที่ 6.2 การรดดำน้ำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์
(ที่มา: www.popterms.mahidol.ac.th)
3. มารยาทต่อคุณครู ครูเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อลูกศิษย์ รองจากบิดามารดา เพราะครูเป็นผู้ให้ความรู้อบรมบ่มนิสัยให้ทุกคนเป็นคนดี แนะนำสั่งสอนทั้งในด้านวิชาการ ด้านคุณธรรมจริยธรรม ไม่น้อยไปกว่าบิดามารดา บุคคลผู้ที่เจริญแล้วจึงให้ความเคารพนับถือ ครู เยี่ยงบิดามารดา การให้ความเคารพต่อ ครูบาอาจารย์ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ไม่ยากที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ หากลูกศิษย์     ทุกคนมีความตระหนักผลที่ได้รับก็คือความดีที่ติดตัวเราไปนั่นเอง มารยาทที่งดงามที่ลูกศิษย์ควรปฏิบัติต่อครู ได้แก่สิ่งต่อไปนี้ 
3.1 ทักทายครูเมื่อพบหน้าครู ด้วยการยกมือไหว้และกล่าวคำสวัสดีทุกครั้ง หากเดินพบกันในช่วงเวลาเช้าแล้ว และพบกันในช่วงบ่ายอีกก็ควรจะทำความเคารพอีก
3.2 ใช้คำพูดที่สุภาพกับครู ไม่ว่าจะเป็นการพูดต่อหน้าหรือการพูดถึงลับหลัง พูดมีหางเสียง อ่อนน้อม การเอ่ยถึงลับหลังก็ควรให้สรรพนามในการเรียกให้ถูกต้อง มีการให้เกียรติ ไม่ใช้คำพูดถึงหรือเรียกชื่อที่ไม่สุภาพ เพราะคำพูดนั้นจะสะท้อนถึงผู้พูด ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ดี หรือไม่ดี
3.3. ให้ความช่วยเหลือครูในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความเต็มใจ
3.4 เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอน ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม
3.5 เมื่อถูกตำหนิควรตระหนักไว้เสมอว่าเป็นการชี้แนะให้ปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่ถูกต้องไม่แสดงอาการหงุดหงิด หรือไม่พอใจ

ภาพที่ 6.3 การแสดงความเคารพต่อคุณครู
(ที่มา: www.pantip.com)
4. มารยาทต่อเพื่อน เพื่อนที่คบหาและอยู่ด้วยกันกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาของเรา ยิ่งสนิทสนมกันมากเท่าไหร่ยิ่งต้องรักษามารยาทให้มาก เพราะการที่คนเราจะสนิทสนม รักใคร่กันต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมความรู้สึกดี ๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงควรรู้จักที่จะรักษาและถนอมน้ำใจกันไว้ โดยต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
4.1 ปฏิบัติต่อเพื่อนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แสดงอาการรังเกียจ หรือท่าทีมึนตึงกับเพื่อน คนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะรักใคร่ชอบพอหรือไม่
4.2 พยายามศึกษาและเข้าใจลักษณะนิสัยของเพื่อนแต่ละคน โดยยึดหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล  
4.3 รักษาความลับของเพื่อน ไม่เปิดเผยปมด้อยของเพื่อน หรือพูดให้ได้รับความอับอาย
4.4 ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ใช้คำหยาบกับเพื่อน ถึงแม้จะเป็นเพื่อนสนิทสนมก็ไม่ควรทำ
ภาพที่ 6.4 ให้ความช่วยเหลือเพื่อนด้วยความเต็มใจ
(ที่มา: www.oknation.net)
5. มารยาทของเพื่อนต่างเพศ ผู้ชายและผู้หญิงไม่ได้มีเพียงสรีระที่แตกต่างกัน แต่อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดก็ต่างกันไปด้วย ผู้ชายจะมีความเข้มแข็ง นิสัยหุนหันพลันแล่นมากว่าผู้หญิง ใจกว้าง มองการณ์ไกล ไม่จุกจิก แต่ในขณะที่ผู้หญิง จะมีความนุ่มนวล อ่อนไหว คิดอะไรรอบคอบ และมักจะมีนิสัยชอบเอาใจผู้อื่น ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันทั้งชายและหญิง ดังนั้นการปฏิบัติต่อเพศตรงข้ามจึงควรคำนึงถึงมารยาทต่อไปนี้
5.1 การคบเพื่อนต่างเพศควรจะมีการเว้นระยะของความใกล้ชิด เพราะการที่ใกล้ชิดกันมากเกินไปอาจจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งอึดอัด หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะถูกมองได้ว่าไม่รักนวลสงวนตัว
5.2 ให้คิดไว้เสมอว่าถึงแม้จะเป็นเพื่อนต่างเพศ ก็สามารถคบกันเป็นเพื่อนได้ถ้ารู้จักวางตัว
5.3 การคบเพื่อนต่างเพศไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร
ภาพที่ 6.5 การวางตัวให้เหมาะสมกับเพื่อนต่างเพศ เป็นเรื่องที่สำคัญมากในวัยเรียน
(ที่มา: www.health4win.com)
6. มารยาทในห้องเรียน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ มารยาทในห้องเรียนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นควรมีมารยาทในห้องเรียนดังนี้
6.1 ตั้งใจเรียน เป็นการแย่มาก ๆ หากว่านักเรียนจับกลุ่มคุยแข่งกับอาจารย์ที่สอนอยู่หน้าชั้นเรียนหรือสนใจอ่านหนังสือการ์ตูนมากกว่าบทเรียนในชั่วโมงทุกคนลองคิดดูว่า อาจารย์ผู้สอนเพียง  คนเดียวไม่สามารถตะเบ็งเสียงแข่งได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการเรียนการสอนจะไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังสร้างทัศนคติที่ไม่ดีระหว่างอาจารย์และนักเรียนอีกด้วย
6.2 ไม่รบกวนสมาธิของผู้อื่น ถึงแม้เราจะเบื่อในวิชานั้น ๆ ก็ไม่ควรไปชวนเพื่อนคุยหรือรบกวนใด ๆ ก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่เข้าใจหรือสงสัยอะไรให้ยกมือถาม อย่าไปถามเพื่อนขณะเรียนเพราะ เพื่อนอาจเรียนไม่รู้เรื่องเพราะเรา
6.3 เชื่อฟังคำตักเตือนของอาจารย์ บางครั้งที่เราทำผิดหรือเราอาจจะดื้อรั้นกับอาจารย์ที่สอน อาจารย์อาจจะต่อว่าตักเตือนหรือตีก็ไม่ควรทำอวดดีหรือโต้เถียงใด ๆ ทั้งสิ้น
6.4 แสดงนำใจต่อเพื่อน ๆ บางครั้งเพื่อนของเรามาเรียนไม่ทันหรือขาดเรียนไปเราควรอธิบายวิชาที่เราพอจะสามารถอธิบายให้เพื่อนเราฟังได้ หรือเพื่อนขาดอุปกรณ์การเรียน ถ้าเรามีก็ควรจะแบ่งปัน เพราะในการเรียนเราต้องพึ่งพาอาศัยกันเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ
6.5 มีความรับผิดชอบ นอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว หากมีการบ้านหรือกิจกรรมกลุ่ม เราควรมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
ภาพที่ 6.6 การทำสมาธิก่อนเรียน
(ที่มา: รุ่งฤดี ศิริผล ถ่ายภาพ)
7. มารยาทในห้องสมุด ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ใช้ในการอ่านหนังสือ แต่มีห้องสมุดบางแห่งมีกิจกรรมหลายอย่างที่จัดขึ้น เช่น ใช้เป็นที่จัดอบรม ฉายภาพยนตร์ และห้องสมุดอาจแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ เช่น ห้องยืมหนังสือพื้นที่ในการอ่านหนังสือ พื้นที่สำหรับการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้พื้นที่ในส่วนใดของห้องสมุดเพื่อทำกิจกรรม แต่โดยกิจกรรมหลักแล้ว ห้องสมุดยังคงใช้เป็นสถานที่ในการอ่านหนังสือ จึงต้องการความสงบเรียบร้อย ห้ามส่งเสียงดัง แม้กระทั่งเสียงฝีเท้าจากการเดินก็ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงดัง จนเป็นที่รบกวนผู้อื่น มารยาทที่ควรปฏิบัติในการใช้ห้องสมุด มีดังต่อไปนี้
7.1 ไม่ส่งเสียงดังจนเป็นที่รบกวนภายในอาคาร
7.2 รักษาวัสดุอุปกรณ์ เอกสาร นิตยสาร และหนังสือทุกชนิด ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
7.3 ดูแล รักษาหนังสือที่ยืมให้อยู่ในสภาพเดิม และมีความรับผิดชอบในการนำมาคืนตามกำหนด
7.4 การนั่ง หรือเลื่อนโต๊ะเก้าอี้ ควรจะกระทำอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงดัง
7.5 ไม่นำอาหารเข้ามารับประทานในบริเวณห้องสมุด
ภาพที่ 6.7 มารยาทที่ดีในการใช้ห้องสมุด
(ที่มา: www.health4win.com)
8. มารยาทบนรถเมล์และรถไฟฟ้า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีจำนวนประชากรใช้รถเมล์และรถไฟฟ้า เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเมืองหลวง เนื่องจากการใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าในช่วงเวลาของการไปทำงานและเลิกงาน เป็นเวลาที่มีจำนวนคนหนาแน่น หากทุกคนไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาหรือตามหลักมารยาทสากลแล้ว ก็จะเกิดการทะเลาะวิวาท วุ่นวาย อาจเกิดอุบัติเหตุ และทำให้เกิดการล่าช้า ดังนั้นในการเดินทางโดยรถเมล์หรือรถไฟฟ้าควรมีมารยาทในการโดยสาร ดังต่อไปนี้
8.1 เข้าแถวซื้อตั๋วรถไฟฟ้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
8.2 เมื่อขึ้นบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า หากมีที่นั่งก็ควรนั่งให้เรียบร้อย ถ้าไม่มีก็ให้จับเสาหรือราวโดยไม่ควรยืนพิงเสาให้เกะกะผู้อื่น        
8.3 ไม่ควรนำอาหารขึ้นมารับประทานอาหารบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า เพราะอาจมีกลิ่นที่รบกวนผู้อื่น และอาจจะหกเลอะเทอะได้
8.4 ไม่ยื่นแขนหรือศีรษะออกนอกรถเมล์ เพราะอาจเกิดอันตรายได้
8.5 ไม่เดินไปมาระหว่างตู้โดยสารรถไฟฟ้า เพราะนอกจากรบกวนผู้อื่นแล้ว ก็อาจจะเป็นอันตรายได้
8.6 ไม่วิ่งเล่นบริเวณสถานีรถไฟฟ้า หากพลาดตกลงไปในรางซึ่งมีกระแสไฟฟ้า อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ภาพที่ 6.8 เมื่อมีที่นั่งควรนั่งให้เรียบร้อย
(ที่มา: http://www.travel.mthai.com)
9. มารยาทการโดยสารเครื่องบิน ในปัจจุบันการโดยสารเครื่องบินนับเป็นพาหนะในการเดินทางที่มีผู้คนนิยมใช้กันมากเนื่องจากการทำธุรกิจและการทำงาน ในบางครั้งมีความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งในเรื่องของเวลา การโดยสารเครื่องบินสามารถร่นระยะเวลาในการเดินทางให้รวดเร็วมากขึ้น เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำงาน เพราะการเดินทางที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถปฏิบัติงานได้เสร็จ ดังนั้นในการโดยสารเครื่องบินควรมีมารยาทในการโดยสารเครื่องบิน ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
9.1 ควรนั่งตามเลขที่นั่งที่กำหนดไว้ในตั๋วเครื่องบิน
9.2 ปฏิบัติตามกฎและคำแนะนำของพนักงานประจำเครื่องบิน เช่น การรัดเข็มขัดนิรภัย การปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด การเปิดม่านหน้าต่างบังแดด ในขณะที่เครื่องบินขึ้นและลงจอด
9.3 ควรให้ความสนใจขณะที่พนักงานประจำเครื่องบินทำการสาธิตเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์และหยุดทำกิจกรรมอื่น ๆ
9.4 ไม่สร้างความรำคาญกับผู้อื่นโดยการใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งยื่นไปในพื้นที่นั่งของคนอื่นไม่ว่าจะเป็นแขน ข้อศอก หรือเท้า
9.5 ระมัดระวังการปรับพนักเก้าอี้ในขณะที่ทุกคนกำลังรับประทานอาหารเพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุทำให้อาหารร่วงหล่น สกปรกเลอะเทอะได้
9.6 ไม่คุยกันส่งเสียงดังจนเป็นที่รำคาญ
9.7 ไม่ถอดรองเท้า หรือวางสิ่งของเกะกะ เพราะในการโดยสารเครื่องบิน การทำพื้นที่      ทุกส่วนให้ว่างเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะทำให้สะดวกในการการอพยพ
ภาพที่ 6.9 ควรให้ความสนใจเมื่อพนักงานสาธิตการใช้อุปกรณ์
(ที่มา: http://news.mthai.com)
10. มารยาทการใช้บันไดเลื่อน ปัจจุบันนี้บันไดเลื่อนเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการช่วยเดินให้กับคนมากขึ้นในทุกสถานที่ ตามอาคารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า สนามบิน ตึกอาคารสูง ๆ ทั่วไป เพื่อเป็นการช่วยผ่อนแรง ในการเดินขึ้นที่สูงช่วยลดความเหนื่อยล้า และทำให้การเดินทางในอาคารรวดเร็วขึ้น การใช้บันไดเลื่อนหรือทางเลื่อนจึงควรมีมารยาทดังต่อไปนี้
10.1 ใช้บันไดเลื่อนด้วยความระมัดระวังด้วยการก้าวให้ถูกจังหวะการเลื่อนของบันได
10.2 เมื่อก้าวขึ้นไปยืนควรยืนชิดด้านขวาของราวบันได
10.3 เว้นพื้นที่ด้านซ้ายไว้ให้สำหรับผู้ที่ต้องการความรีบเร่งได้เดินไปทางด้านซ้าย
10.4 ไม่ควรวางของเกะกะบนราวบันได
10.5 ควรสวมรองเท้าในการใช้บันไดเลื่อนทุกครั้ง
ภาพที่ 6.10 การใช้บันไดเลื่อนที่ถูกวิธี
(ที่มา: www.news.mthai.com)


11. มารยาทในการใช้ลิฟต์ ควรปฏิบัติดังนี้
11.1 กดปุ่มลิฟต์ เมื่อลิฟต์เปิดไม่ควรแย่งกันเข้า และเมื่อลิฟต์จะปิดแต่มีคนตามมาทีหลัง ควรกดรอจนกว่าคนอื่นที่มาทีหลังจะได้เข้าลิฟต์
11.2 ควรให้โอกาสเด็ก สตรี และคนชรา เข้า-ออกลิฟต์ก่อน
11.3 เมื่อเข้าไปในลิฟต์ ควรเดินชิดใน ไม่ขวางทางเข้าออกเพื่อให้ผู้อื่นสามารถเข้า-ออกได้สะดวกและเพื่อความรวดเร็ว
11.4 ไม่ส่งเสียงดัง หรือสร้างความรำคาญอื่นๆ ในลิฟต์
11.5 หากลิฟต์เต็ม ควรรอไว้คราวต่อไป
ภาพที่ 6.11 ผู้ที่อยู่ใกล้ปุ่มกด ควรเป็นผู้กดชั้นที่ต้องการของผู้โดยสาร
(ที่มา: http://carcare.exteen.com)
12. มารยาทการใช้ห้องน้ำสาธารณะ ประเทศไทยในปัจจุบันมีห้องน้ำที่ทันสมัยเพิ่มมากขึ้น ตามห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย โรงเรียน ปั๊มน้ำมัน ภัตตาคาร โรงพยาบาล ห้องน้ำได้รับการดูแลตกแต่งให้สะอาดและสวยงาม มีกลิ่นหอมของน้ำหอม ซึ่งทางสถานที่นั้น ๆ ได้พยายามจัดทำให้เกิดความประทับใจ และบ่งบอกถึงความดูแลและเอาใจใส่ในเรื่องของความสะอาดของเจ้าของสถานที่นั้น ดังนั้นผู้ที่ใช้ห้องน้ำสาธารณะควรมีมารยาทในการใช้ดังต่อไปนี้
12.1 ควรใช้เวลาในการทำธุระส่วนตัวให้พอเหมาะ เพราะอาจมีคนอื่นที่รออยู่
12.2 ก่อนออกจากห้องน้ำควรสำรวจความเรียบร้อยของโถส้วม
12.3 กระดาษชำระควรใช้แต่พอดี ใช้ด้วยความประหยัด
12.4 ไม่ขีดเขียนฝาผนังห้องน้ำ
12.5 หากมีการใช้ผ้าอนามัย ควรห่อให้มิดชิดก่อนที่จะทิ้งในถังขยะ
ภาพที่ 6.12 ปิดน้ำทุกครั้งหลังเลิกใช้
(ที่มา: http://guru.sanook.com)
13. มารยาทในการชมมหรสพ ควรปฏิบัติดังนี้
13.1 ควรไปถึงสถานที่ชมมหรสพก่อนเวลาแสดงเล็กน้อย
13.2 ควรมีการจองซื้อบัตรหรือตั๋วล่วงหน้า ถ้าเปิดให้ซื้อหรือสั่งจองได้ล่วงหน้า แต่ถ้าต้องซื้อบัตรหรือตั๋วที่หน้าสถานที่ชมมหรสพ ต้องเข้าแถวซื้อตามลำดับก่อน-หลัง โดยสุภาพบุรุษต้องเป็นฝ่ายจัดการในการซื้อบัตรหรือตั๋วและเลือกที่นั่ง
13.3 ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ชมมหรสพกำหนด
13.4 เมื่อเข้าไปนั่งในที่นั่งชมมหรสพ ให้นั่งตามเลขที่นั่งที่ระบุในบัตรหรือตั๋วของตน
13.5 สุภาพบุรุษต้องเป็นผู้นำสุภาพสตรีเข้าไป เมื่อถึงที่นั่งแล้วสุภาพบุรุษต้องให้สุภาพสตรีนั่งก่อนแล้วตนจึงนั่ง แต่ถ้าในสถานที่ชมมหรสพนั้นมีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับนำไปส่งยังที่นั่งต้องให้สุภาพสตรีเดินตามเจ้าหน้าที่ ส่วนสุภาพบุรุษเดินตามหลังและให้สุภาพสตรีนั่งก่อนเช่นกัน
13.6 เมื่อเดินผ่านท่านผู้ชมอื่น ต้องกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ก่อนเดินผ่านเสมอ และถ้ามีคนหลีกทางให้ต้องกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” หรือ “ขอบใจ” ที่เขาหลีกทางให้เสมอ
13.7 ควรปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนเข้าชมมหรสพ เพื่อไม่ให้ต้องเดินเข้า-ออกขณะชมมหรสพ เพราะจะรบกวนผู้อื่น
13.8 ควรปิดโทรศัพท์มือถือ เมื่อเข้าชมมหรสพเพราะจะส่งเสียงรบกวนผู้อื่น
13.9 ไม่ควรนำอาหารหรือของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทานขณะชมมหรสพ
13.10ไม่ควรคุยกันขณะชมมหรสพ หรือถ้ามีความจำเป็นไม่ควรส่งเสียงดังจนรบกวนผู้อื่น
13.11 ควรนั่งชมมหรสพด้วยอาการสำรวม และไม่ควรนั่งหลับในขณะชมมหรสพ
                  13.12 เมื่อเกิดความพึงพอใจในการแสดงมหรสพ ควรปรบมือ อย่าส่งเสียงประหลาดออกมาเมื่อเกิดความไม่พอใจหรือเบื่อหน่าย ควรให้เกียรติผู้แสดงเสมอ
13.13 ไม่ควรใส่น้ำหอมหรือโคโลญจน์ที่มีกลิ่นรุนแรง เพราะจะทำให้กลิ่นฉุนรบกวนผู้อื่น
13.14 ไม่ควรพาเด็กเล็กเกินไปเข้าไปในโรงมหรสพ เพราะเด็กจะส่งเสียงรบกวนผู้อื่น หรือสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น และอากาศในโรงมหรสพยังไม่เหมาะกับเด็กเล็กอีกด้วย
13.15 ยืนแสดงความเคารพ เมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเสมอ
13.16 ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ชมมหรสพกำหนดไว้
ภาพที่ 6.13 ยืนแสดงความเคารพ เมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
(ที่มา: http://fb.hilight.kapook.com)
14. มารยาทในงานประเพณีและพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเป็นสิ่งที่ชาวไทยยึดถือปฏิบัติกันมานาน ชาวไทยต้องเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เช่น งานอุปสมบท งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น การเข้าร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ ควรปฏิบัติดังนี้
14.1 มารยาทในการไปงานมงคลสมรส การไปร่วมงานมงคลสมรสไปเพื่อแสดงความยินดีและอวยพรแก่คู่บ่าวสาว ควรปฏิบัติมารยาทดังนี้
14.1.1 การแต่งกาย ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใส เหมาะสมกับสถานที่จัดงาน หรือในปัจจุบันคู่บ่าวสาวนิยมกำหนดลักษณะงาน แล้วแจ้งแขกที่มาร่วมงานเกี่ยวกับในเรื่องการแต่งกาย เช่น แต่งกายแบบลูกทุ่งย้อนยุค แต่งกายด้วยสีฟ้า เป็นต้น
14.1.2 ควรหาของขวัญให้คู่บ่าวสาว เช่น เช็คของขวัญ ของใช้ห่อสวยงาม เป็นต้น ของ    ทุกชิ้นควรมีนามบัตร หรือติดบัตรแสดงความยินดีบอกชื่อผู้ให้ด้วย เพื่อสะดวกต่อคู่บ่าวสาวในการบันทึก โดยทั่วไปสิ่งที่นิยมมอบให้แก่คู่บ่าวสาวคือเงินใส่ซอง เพื่อให้คู่บ่าวสาวนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ต้องการ
14.1.3 เมื่อไปถึงงาน ควรทักทายเจ้าภาพหรือคู่สมรสก่อน นำของขวัญมอบให้คู่บ่าวสาวหรือนำไปมอบที่โต๊ะรับของขวัญ
14.1.4 นั่งตามที่เจ้าภาพจัดให้
14.1.5 สามีภรรยาที่ไปงานมงคลสมรสด้วยกัน ควรเข้าไปรดน้ำสังข์อวยพรคู่บ่าวสาวพร้อมกัน
14.1.6 รับของชำร่วยเพียงชิ้นเดียว หากจะนำไปฝากผู้ที่ฝากของขวัญมาให้คู่สมรส ควรแจ้งเจ้าภาพ
14.1.7 หากได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ ควรเริ่มจากการกล่าวขอบคุณเจ้าภาพที่ให้เกียรติ และจบด้วยการเชิญชวนให้แขกที่มาร่วมงานดื่มอวยพรแก่คู่บ่าวสาว
14.1.8 เมื่อถึงเวลากลับควรบอกลาเจ้าภาพ หากมีแขกจำนวนมาก อาจบอกเจ้าภาพล่วงหน้าไว้ก่อนว่าตอนกลับอาจไม่ได้ลา ต้องขออภัยด้วย
 14.2 มารยาทในการไปงานศพ การไปร่วมงานศพ แบ่งออกได้ดังนี้

14.2.1 การไปรดน้ำศพ ส่วนใหญ่มักรดน้ำศพญาติสนิท และนิยมรดน้ำศพผู้ที่สูงกว่า ไม่นิยมรดน้ำศพผู้ที่อายุน้อยกว่า ก่อนรดน้ำศพควรแสดงคารวะศพด้วยการไหว้ หรือโค้งคำนับแล้วแต่ความเหมาะสม ขณะทำความเคารพให้ภาวนาขออโหสิกรรมในใจ แล้วค่อย ๆ รินน้ำอบที่ทางเจ้าภาพจัดเตรียมลงบนมือขวาของศพ พร้อมกับกล่าวในใจว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”
14.2.2 การไปรับฟังสวดพระอภิธรรม ควรปฏิบัติดังนี้
(1) แต่งกายไว้ทุกข์
(2) เมื่อเข้าถึงงานควรเข้าไปหาเจ้าภาพ แสดงความเสียใจ มอบพวงหรีด หรือซองเงินทำบุญตามที่จัดเตรียมมา
(3) เข้ากราบพระพุทธรูป 3 ครั้ง แบบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจุดธูป 1 ดอกปักลงในกระถางธูป นั่งพับเพียบกราบศพแบบไม่แบมือ
(4) หาที่นั่งเหมาะสม ส่วนมากด้านหน้ามักเป็นโซฟารับแขกซึ่งจัดไว้ให้ประธานนั่งแขกธรรมดาจะนั่งด้านหลัง
(5) นั่งประนมมือฟังพระสวดด้วยความสงบ
(6) ไปร่วมงานในฐานะเป็นเจ้าภาพงานสวด ต้องจุดธูปเทียนบูชาพระ ให้จุดเทียนด้านซ้ายมือก่อนอาราธนาศีล เมื่อจบการสวดต้องเป็นผู้ถวายเครื่องปัจจัยไทยทาน ทอดผ้าบังสุกุลก่อนและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย
(7) ควรอยู่ฟังสวดให้ครบ 4 จบ หากบ้านไกลอาจกลับก่อน แต่จะต้องลาเจ้าภาพด้วย
14.2.3 การไปร่วมงานฌาปนกิจหรืองานพระราชทานเพลิง ควรปฏิบัติดังนี้
(1) แต่งกายด้วยชุดไว้ทุกข์ ถ้าเป็นงานพระราชทานเพลิง สตรีควรสวมกระโปรง       ถุงน่อง บุรุษใส่ชุดพระราชทาน หรือสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเน็กไทดำ
(2) เมื่อไปถึงงานควรแสดงความเคารพเจ้าภาพก่อน แล้วหาที่นั่งที่เหมาะสม
(3) หากมีการเป่าแตรงอนเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ ทุนคนยืนตรง แสดงความเคารพให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์
(4) ควรเรียงแถว ทยอยกันขึ้นจุดเพลิงศพ
(5) แสดงความเคารพด้วยการคำนับหรือไหว้ ก่อนวางดอกไม้จันทน์
มารยาทการทำความเคารพแบบไทย
1. การไหว้
1.1 การไหว้พระภิกษุ ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะ จรดหัวแม่มือที่กลางระหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มหัว ให้หน้าขนานกับพื้นค้อมหลังพอประมาณ
ชาย ยืนตรง ค้อมตัวลงต่ำพร้อมกับประนมมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนตรง ย่อเข่าลงให้ต่ำโดยถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับประนมมือขึ้นไหว้
ภาพที่ 6.14 การไหว้พระภิกษุ
(ที่มา: www.yourepeat.com)
1.2 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส ประนมมือไหว้ให้นิ้วหัวแม่มือยู่ที่ปลายจมูกปลายนิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว
ชาย ยืนตรง ค้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระพร้อมประนมมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนตรง ถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลังย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระพร้อมประนมมือขึ้นไหว้
ภาพที่ 6.15 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส
(ที่มา: www.yourepeat.com)

1.3 การไหว้บุคคลทั่วไป ประนมมือไหว้ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก
ชาย ยืนตรง ค้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณพร้อมประนมมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนตรง ถอยเท้าข้างที่ถนัดไปข้างหลังย่อเข้าลงเล็กน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณพร้อมประนมมือขึ้นไหว้
ภาพที่ 6.16 การไหว้บุคคลทั่วไป
(ที่มา: www.wordpress.com)

1.4 การไหว้ผู้ที่เสมอกันยืนตัวตรงประนมมือให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก ทั้งชายและหญิงควรไหว้พร้อม ๆ กัน
การไหว้ตามมารยาทไทยนั้น สำหรับผู้หญิง อาจถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างละครึ่งก้าว แล้วย่อเข่าลงพอสมควร พร้อมกับยกมือไหว้ กรณีการไหว้ผู้เสมอกันให้ยืนตรงแล้วยกมือไหว้
ภาพที่ 6.17 การไหว้ผู้เสมอกัน
(ที่มา: www.exteen.com)
2. การกราบ
            การกราบมีอยู่ 2 ประเภท คือ การกราบพระ และการกราบผู้อาวุโส จะมีลักษณะที่แตกต่างกันการกราบพระเรียกว่า “กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์” ซึ่งจะมีขั้นตอนดังนี้
2.1 การกราบพระแบบเบญจางคประดิษฐ์ เป็นการกราบที่แสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อบุคคลที่ควรเคารพนับถือสูงสุด ซึ่งก็คือพระนั่นเอง เบญจางคประดิษฐ์แปลว่าตั้งไว้เฉพาะซึ่งองค์ห้า  โดย “เบญจ” ซึ่งแปลว่า 5 นั้น หมายถึง อวัยวะทั้ง 5 อันได้แก่ หน้าผาก มือทั้งสอง และเข่าทั้งสอง โดยอวัยวะที่ว่านั้นเวลากราบจะต้องจรดลงให้ติดกับพื้น ซึ่งท่านี้จะปฏิบัติแตกต่างกันในชายและหญิงสำหรับชายนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้
ท่าเตรียม ท่าเตรียมของชายนั้น จะเรียกว่า “ท่าเทพบุตร”
ท่าเทพบุตร นั่งคุกเข่าปลายเท้าตั้งนั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง นิ้วมือแนบชิดติดกัน ส้นเท้าไม่แบะออก
จังหวะที่ 1 อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอกปลายนิ้วชิดเบนออกจากตัวพอประมาณไม่กางศอก
จังหวะที่ 2 วันทา ยกมือขึ้นนิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้วปลายนิ้วมือชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง
จังหวะที่ 3 อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกันห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างต่อเข่าขนานไปกับพื้น หลังไม่โก่งหรือ      ก้นไม่โด่งจนเกินงาม
การกราบจะกราบ 3 ครั้งเมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบ โดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้วปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง

ภาพที่ 6.18 การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับผู้ชาย


(ที่มา: www.wordpress.com)

สำหรับหญิงนั้น ให้ปฏิบัติดังนี้
ท่าเตรียม ท่าเตรียมของหญิงนั้น จะเรียกว่า “ท่าเทพธิดา”
ท่าเทพธิดา นั่งคุกเข่า ปลายเท้าราบนั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้างนิ้วมือแนบชิดติดกันปลายเท้าไม่แบะออก
จังหวะที่ 1 อัญชลี ยกมือขึ้นประนมมือระหว่างอก ปลายนิ้วชิด เบนออกจากตัวพอประมาณ        ไม่กางศอก
จังหวะที่ 2 วันทา นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว ปลายนิ้วชี้จรดกลางหน้าผาก พร้อมกับค้อมศีรษะลง
จังหวะที่ 3 อภิวาท ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกันห่างกันเล็กน้อยพอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้ โดยศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็กน้อย
การกราบจะกราบ 3 ครั้งเมื่อครบสามครั้ง ยกมือขึ้นจบโดยให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้วปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง
ภาพที่ 6.19 การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สำหรับผู้หญิง
(ที่มา: www.wordpress.com)
2.2 การกราบผู้ใหญ่ใช้กราบผู้อาวุโส หรือผู้มีพระคุณ ทั้งชายและหญิงให้นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า ทอดมือทั้งสองพร้อมกันให้แขนคร่อมเข่าที่อยู่ด้านล่างเพียงเข่าเดียว มือประนม ค้อมตัวลง หน้าผากและส่วนบนของมือ กราบเพียงครั้งเดียวโดยไม่แบมือ เมื่อกราบเสร็จ ประสานมือดันตัวลุกขึ้นนั่งในท่าพับเพียบ
ภาพที่ 6.20 การกราบผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโส
(ที่มา: www.fuqinxingkugongzuo.deimg.com)
3. การประเคนของแด่พระสงฆ์
            ชาย ใช้สองมือถือของเดินเข่า เข้าไปในระยะหัตถบาส (ระยะที่มือพระท่านเอื้อมมือถึง) ยกของขึ้นประเคนในลักษณะมือต่อมือได้เลย (คือยกให้ท่านรับได้เลย) เมื่อประเคนเสร็จจะไหว้หรือกราบก็ได้แล้วแต่กาลเทศะ เมื่อพระรับของแล้วให้ถอยออกโดยวิธีเดินเข่า
ภาพที่ 6.21 การประเคนของแด่พระสงฆ์สำหรับผู้ชาย
(ที่มา: www.eduzones.com)
หญิง ใช้สองมือถือของเดินเข่า เข้าไปในเช่นเดียวกับผู้ชายยกของขึ้นประเคนโดยวางบนผ้าที่พระสงฆ์ทอดออกมา เมื่อประเคนเสร็จปฏิบัติเช่นเดียวกับชายการแต่งกายควรจะมิดชิด
ภาพที่ 6.22 การประเคนของแด่พระสงฆ์สำหรับผู้หญิง
(ที่มา: www.eduzones.com)
            4. การถวายความเคารพแบบสากล
            ชาย ใช้วิธีถวายคำนับโดยค้อมลำตัวตั้งแต่ศีรษะถึงเอวลงให้ต่ำพอสมควร (ไม่ต้องก้มลงไปจนมองเห็นเข็มขัดตัวเอง แบบนั้นไม่สง่า) เสร็จแล้วยืนตัวตรงลักษณะเดิม
            หญิง ใช้วิธีถวายความเคารพด้วยการถอนสายบัวแบบสากลนิยม ยืนตัวตรง หันหน้าไปทางพระองค์ท่านวาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัดไปข้างหลัง พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรงปล่อยแขนตรงแนบลำตัว สายตาทอดลง เสร็จแล้วยืนตัวตรงลักษณะเดิม
ภาพที่ 6.23 การถวายความเคารพแบบสากล
(ที่มา: www. zedth.exteen.com)

การฝึกกิริยามารยาทในการรับประทานอาหาร
            การทำงานย่อมต้องมีการสมาคม มารยาทจึงถือเป็นคุณสมบัติที่ควรจะอยู่กับตัวผู้ที่มีมารยาทจะต้องระมัดระวังไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้าโต๊ะเพื่อนั่งรับประทานอาหาร การสั่งอาหารจนกระทั่งกิริยาในการรับประทาน สุภาพบุรุษสุภาพสตรีควรจะปฏิบัติตนด้วยมารยาทที่ถูกต้องงดงามในทุก ๆ ด้าน จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับมารยาทในการรับประทานอาหาร การร่วมรับประทานอาหารในโอกาสที่เป็นทางการ หรือเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการทำงาน    อยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องพบปะกับผู้อื่นเป็นสิ่งที่จะต้องคู่กับการทำงานไปจนตลอดชีวิต มารยาทในการรับประทานอาหารจึงมีความจำเป็น หลาย ๆ คนอาจคิดว่าไม่มีอะไรที่จะต้องศึกษาเพราะการรับประทานอาหารเป็นเรื่องปกติธรรมดา เคยเป็นอยู่อย่างไรก็ปฏิบัติไปอย่างนั้นซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากเพราะหากจะเปรียบเทียบคนที่รู้จักกิริยามารยาท และคนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เลย จะเห็นได้ถึงบุคลิกภาพที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
            ดังนั้นบุคคลที่ต้องการพัฒนาตนเองเพื่อการมีกิริยาท่าทางที่ดีที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพื่อให้ตัวเองเป็นบุคคลที่ดีมีกิริยาที่งดงามสง่าภูมิฐานเป็นที่น่าประทับใจ ไว้วางใจแก่ผู้ พบเห็นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อผู้ที่ใกล้ชิดกับเราอันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว
            มารยาทพื้นฐานในการร่วมกับประทานอาหารมีมากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวเองเพื่อไปร่วมงาน จนกระทั่งถึงการรับประทานอาหาร และเสร็จสิ้นงานนั้น ๆ ซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนต่อไปนี้
            1. ก่อนจะไปร่วมงานควรเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับงานนั้น ๆ เช่น งานราตรีสโมสร งานเลี้ยงอาหารค่ำ งานเลี้ยงค็อกเทล งานเลี้ยงอาหารแบบโต๊ะจีน งานเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟ่ เป็นต้น
ภาพที่ 6.24 การแต่งกายเพื่อไปร่วมงานราตรี
(ที่มา: www.globalfashionreport.com)
            2. เมื่อเดินทางไปถึงงานเลี้ยง การนั่งเก้าอี้รับประทานอาหารระยะห่างระหว่างโต๊ะกับลำตัวเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะถ้าห่างเกินไปเมื่อเวลาทานอาหารก็ต้องโน้มตัวมาข้างหน้าทำให้ดูเหมือนต้องยื่นลำคอออกมารับอาหาร มองดูแล้วไม่สวยงาม แต่ถ้านั่งชิดโต๊ะมากเกินไปก็จะทำให้เวลาใช้ช้อนและส้อมตักอาหารข้อศอกกางออก ท่านั่งที่ถูกต้องจึงควรให้ลำตัวห่างจากโต๊ะประมาณหนึ่งกำปั้นครึ่ง
            3. อย่านั่งไขว่ห้างหรือถอดรองเท้าไว้ใต้โต๊ะ บางครั้งเราคิดว่าการนั่งจะนั่งอย่างไรก็ได้ เพราะมีผ้าปูโต๊ะช่วยปิดบังขา แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น การนั่งกระดิกเท้าหรือสั่นขาอยู่ตลอดเวลาก็เป็นสิ่งที่น่ารำคาญและน่ารังเกียจอย่างยิ่งแสดงถึงการขาดการอบรม จะเห็นได้ว่าคนที่มีการแสดงออกถึงกิริยาท่าทางที่ดีก็จะมองให้เห็นถึงการได้รับการอบรมมาจากครอบครัวที่ดี  ดังคำพูดที่ว่า “สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล” กิริยาที่ไม่ดีต่าง ๆ ไม่มีใครกล้าที่จะบอกให้เราได้ทราบ จึงควรจะต้องระมัดระวังตัวเองในการแสดงออกถึงกิริยาท่าทางต่าง ๆ
            4. ไม่ควรเอาข้อศอกวางไว้บนโต๊ะนั่งรับประทานอาหาร การวางข้อศอกไว้บนโต๊ะแล้วเอามือประคองศีรษะรับประทานอาหาร มองดูเหมือนคนป่วย ไม่มีสง่าราศี หรือมองดูเหมือนขี้เกียจ นอกจากเสียบุคลิกภาพของตนเองแล้วยังทำให้เป็นที่น่ารำคาญ เกะกะผู้อื่นอีกด้วย จึงต้องระมัดระวัง
ภาพที่ 6.25 กิริยาที่ไม่เหมาะสมในการรับประทานอาหาร
(ที่มา: www.kapook.com)
            5. ไม่พูดจาซุบซิบ การพูดจาซุบซิบกับคนที่นั่งข้าง ๆ อาจจะทำให้คนอื่นที่นั่งร่วมในโต๊ะเกิดความไม่สบายใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา หรือถูกนินทาว่าร้ายบางครั้งถ้าเจ้าภาพผู้จัดงานเห็นก็จะเกิดความไม่สบายใจ เช่น อาจจะคิดว่าถูกนินทาว่าอาหารไม่อร่อย การจัดงานไม่ดีหรือมีบางสิ่งบางอย่างบกพร่อง จึงไม่ควรที่จะแสดงกิริยาท่าทางดังกล่าว
            6. ไม่ใช้ไม้จิ้มฟันแคะฟันบนโต๊ะอาหาร ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ก็ให้ใช้มืออีกด้านหนึ่งบังเอาไว้แต่ถ้าเศษอาหารติดฟันจนเอาไม่ออกจำเป็นต้องแคะโดยการออกแรงก็ควรขออนุญาตและเดินไปเข้าห้องน้ำเพื่อจัดการกับเศษอาหารนั้น
            7. ให้ความสนใจกับพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ ในการร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีพิธีกรในงานบางช่วงบางตอน ขณะที่พิธีกรกำลังพูดควรสนใจฟัง ควรหยุดรับประทานอาหารและหยุดการพูดคุย เพื่อฟังพิธีกรพูด เป็นการให้เกียรติและแสดงความสนใจผู้พูด อย่าละเลยในเรื่องเหล่านี้เพราะเป็นการแสดงให้เห็นความมีมารยาท
มารยาทพื้นฐานในการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้แต่ส่วนใหญ่มักจะละเลย และทำตามใจตัวเองจนกลายเป็นการเสียมารยาทเสียบุคลิกภาพ มารยาทพื้นฐานในการรับประทานอาหารนี้หากบุคคลได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติจะเป็นเพียงเรื่องง่าย ๆ ทั่วไป และหากนำไปปฏิบัติจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้ตัวเองดูดูมีคุณค่ายิ่งขึ้น
มารยาทการรับประทานอาหารแบบไทย
            การรับประทานอาหารแบบไทยเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงาม และสืบสานต่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตามการรับประทานอาหารของไทยมี 3 แบบดังนี้
            1. การเลี้ยงอาหารแบบนั่งกับพื้นมีสำหรับเฉพาะตัว การเลี้ยงอาหารแบบนี้ในปัจจุบันใช้เลี้ยงเฉพาะพระสงฆ์ชั้นราชาคณะเท่านั้น ไม่ใช้เลี้ยงบุคคลภายนอก การเลี้ยงพระสงฆ์อาหารแต่ละสำรับจะมี 7 ถ้วย ในสำรับคาวประกอบด้วย จานข้าว คนโทน้ำ แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ช้อน ส้อม และอาหารคาว   เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วจึงยกสำรับคาวออก และยกสำรับหวานเข้ามาแทนที่ ฉันเสร็จแล้วจึงยกสำรับกลับและเก็บเครื่องใช้ทั้งหมด
            2. การเลี้ยงอาหารแบบนั่งกับพื้นรวมเป็นวง การเลี้ยงอาหารที่มีลักษณะเป็นกันเอง โดยการจัดที่นั่งของผู้รับประทานอาหารเป็นวง วงละประมาณ 5-6 คน ก่อนที่จะวางสำรับอาหารต้องปูเสื่อ หรือพรม แล้วเอาผ้าปูตรงกลางสำรับวางอาหาร เครื่องใช้ในการรับประทานอาหารมี จานข้าว ช้อนกลาง   โถข้าว คนโทน้ำ กระโถน กระดาษเช็ดมือ และแก้วน้ำ ซึ่งวางไว้ทางขวามือของผู้ใช้ อาหารส่วนมากมีประมาณ 5-7 อย่าง อาหารหวานและผลไม้ 3 อย่าง การรับประทานอาหารเริ่มพร้อม ๆ กัน และเมื่อรับประทานอาหารคาวเสร็จจึงยกของหวานและผลไม้มาแทนที่ ในการเติมอาหารที่พร่องให้ตักอาหารใส่ถ้วย จาน หรือชาม มาเติมที่สำรับอย่าหยิบภาชนะในสำรับออกไปเติม
            3. การเลี้ยงอาหารแบบขันโตกเป็นการเลี้ยงอาหารค่ำรับรองแขกผู้มีเกียรติ หรืองานฉลองสมโภชของชาวเหนือ อาหาร ได้แก่ ลาบ แกงอ่อม น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง พร้อมผักจิ้ม แกงฮังเล แคบหมูไส้อั่ว กระติบใส่ข้าวเหนียว คนโทน้ำ จอกหรือจันน้ำ อาหารบรรจุใส่ในโตก ของหวานที่นิยมรับประทาน ได้แก่ ข้าวแต๋น ขนมจอก นอกจากนี้ยังมีเมี่ยงและบุหรี่ไชโยวางไว้ในพาน เมื่อถึงเวลาเปิดงานแขกผู้อาวุโสจะเป็นผู้เดินนำหน้าขบวนแห่ขันโตก ซึ่งมีขบวนฆ้องใหญ่ปิดท้ายขบวน จากนั้น    แขกผู้อาวุโสกล่าวเปิดงานและมีการแสดงบนเวที แขกรับเชิญทั้งหลายจึงเริ่มรับประทานอาหาร โดยใช้มือปั้นข้าวเหนียว จิ้มแจ่ว น้ำพริกอ่องหรือแกง ถ้าอาหารในโตกรับประทานหมดให้เรียกอาหารเพิ่มได้
            การแต่งกายไปร่วมงานเลี้ยงแบบขันโตกสุภาพสตรีนิยมแต่งชุดไทยพื้นเมือง คือสวมเสื้อแขนกระบอกนุ่งผ้าซิ่นและแซมด้วยดอกไม้บนมวยผม สำหรับสุภาพบุรุษใส่เสื้อม่อฮ้อม กางเกงขายาวแบบสากลสีเข้ม การรับประทานอาหารจะต้องนั่งตามหมายเลขให้ตรงกับหมายเลขในบัตรเชิญโตกหนึ่งจะมีผู้ร่วมรับประทานประมาณ 6-7 คน นั่งล้อมวงกับพื้น สุภาพสตรีนั่งพับเพียบสำหรับสุภาพบุรุษจะนั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบก็ได้
ภาพที่ 6.26 อาหารแบบขันโตก
(ที่มา: www.kapook.com)
มารยาทการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่
            การเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟ่ เป็นที่นิยมจัดเลี้ยง เพราะทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง จึงไม่ต้องมีภาระในเรื่องการใช้พนักงานเสิร์ฟ นอกจากนั้นยังประหยัดอุปกรณ์และภาชนะในการรับประทานอาหารได้มาก การเลี้ยงอาหารแบบบุฟเฟ่ นิยมใช้ในการประชุมสัมมนาการอบรม เนื่องจากมีจำนวนปริมาณของคนมาก ทุกคนจึงต้องมีมารยาทในการเข้าแถวการตักอาหารเพื่อรับประทานอาหารซึ่งหลักการง่าย ๆ ที่จะต้องปฏิบัติมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
            1. ควรลุกไปตักอาหารเองโดยยืนต่อแถวและอย่าให้เป็นภาระของผู้อื่น ไม่หยิบอาหรช้อนส้อม หรือตักอาหารแจกผู้อื่น แต่ละคนต้องช่วยเหลือตัวเอง
            2. ไม่พูดคุยขณะที่ตักอาหาร รับตักอาหารเพื่อให้ผู้อื่นได้ตักอาหารบ้างอย่าตักอาหารให้ล้นจาน
            3. ตักอาหารเป็นอย่าง ๆ อย่าวางสุมทับกัน ถ้าของเป็นชิ้นควรหยิบเพียงหนึ่งชิ้นจะหยิบเกินกว่าหนึ่งก็ต่อเมื่อผู้อื่นได้ครบแล้ว
            4. อาหารที่ตักมาต้องรับประทานให้หมด ถ้าไม่พอสามารถลุกเติมได้
            5. เมื่อรับประทานเสร็จต้องเขี่ยเศษอาหารในจาน และรวบช้อนส้อมให้เรียบร้อย
            6. กระดาษเช็ดมือไม่ควรใส่ในจานอาหารเพราะจะทำให้ปลิวเก็บลำบาก ควรใช้จานวางทับไว้
            7. ถ้ามีการกำหนดให้เอาจานอาหารวางไว้ที่ใด เมื่อรับประทานเสร็จแล้วควรปฏิบัติตาม
            8. อาหารหวาน ควรตักเมื่อรับประทานอาหารคาวเสร็จแล้ว
            9. ไม่เบียดหรือแซงผู้อื่น ไม่ยื่นมือไปตักอาหารข้ามมือหรือแขนควรคอยจังหวะให้ผู้อื่นตักเสร็จเสียก่อนแม้ว่าจะเป็นอาหารที่ชอบก็ตาม
ภาพที่ 6.27 อาหารแบบบุฟเฟ่
(ที่มา: www.ekohchang.com)
มารยาทการรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีน
            การรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีนที่ได้มาตรฐาน เครื่องใช้ในโต๊ะจีนแต่ละท่านจะประกอบด้วย ถ้วยซุปพร้อมจานรองและส้อม จานอาหารขนาดเล็กเฉพาะคน แก้วน้ำ ถ้วยชาพร้อม    จานรอง ตะเกียบพร้อมหมอนตะเกียบและช้อนกลาง ซึ่งควรใช้เครื่องใช้ที่มีอยู่ให้ถูกต้อง เช่น ควรวางช้อนไว้ที่จานรองถ้วยซุป อย่าวางไว้ในถ้วยซุป ควรวางตะเกียบไว้บนหมอนรองตะเกียบอย่าวางพาดปากชามการเข้านั่งโต๊ะอาหารจีน โดยปกติลักษณะของงานที่เป็นพิธีการจะคล้ายกับของแบบตะวันตก คือมีการจัดทำผังที่นั่ง ซึ่งเจ้าภาพจะติดไว้หน้าห้องรับประทานอาหารเพื่อให้แขกรับเชิญทุกท่านได้ทราบที่นั่งของตนล่วงหน้า และเมื่อถึงเวลาเข้าที่นั่งเจ้าภาพจะเรียนเชิญแขกเกียรติยศเข้าที่นั่ง แขกรับเชิญอื่น ๆ ก็จะตามเข้าไป
    การกล่าวสุนทรพจน์หรือคำอวยพรเจ้าภาพจะเป็นผู้กล่าวก่อนเมื่อเริ่มรับประทานจากแรก เมื่อกล่าวจบก็จะเดินชนแก้วกับแขกเกียรติยศและแขกท่านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฝ่ายเดียวกับเจ้าภาพ หลังจากนั้นแขกเกียรติยศก็จะมีการกล่าวตอบและชนแก้วเช่นเดียวกัน สิ่งที่จะต้องปฏิบัติและระมัดระวังในการรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีน มีดังต่อไปนี้
    1. เจ้าภาพควรเสิร์ฟอาหารชิ้นแรกของแต่ละจานให้แขกเกียรติยศโดยใช้ช้อนกลางหรือใช้ ตะเกียบของตนที่ยังไม่ใช้ หรือหากใช้ตะเกียบแล้วให้กลับเอาอีกด้านมาคีบให้
      2. เจ้าภาพควรเชิญชวนแขกดื่มบ้างแต่อย่าบ่อยมากจนเกินไป
   3. หากอาหารที่เสิร์ฟมีบางประเภทที่ต้องใช้มือจับ บริกรจะนำชามใส่แก้วน้ำชาและมะนาวฝาน หรือบางงานอาจโรยด้วยกลีบกุหลาบมาให้เพื่อไว้สำหรับล้างมือ เช่น อาหารประเภทเป็นปักกิ่ง หมูหัน วิธีล้าง คือให้ใช้ปลายนิ้วที่เปื้อนจุ่มลงล้างแล้ว จากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้าเช็ดปาก แต่อย่าสะบัดมือเพราะน้ำจะกระเด็นถูกแขกท่านอื่น ๆ
    4. การสนทนาระหว่างกันในโต๊ะอาหาร ไม่ควรมุ่งไปในด้านธุรกิจหรือการงานจนเกินไป ต้องอาศัยความแนบเนียนในการเจรจา ควรให้มีบรรยากาศแบบมีอัธยาศัยไมตรีอันดีเป็นหลัก
      5. เมื่อเสร็จสิ้นงานเลี้ยงเจ้าภาพจะต้องเดินทางไปส่งแขกเกียรติยศให้ถึงรถ โดยเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ
       6. อย่าคายหรือทิ้งเศษอาหารบนโต๊ะหรือที่พื้น ให้ทิ้งในถ้วยหรือชามที่บริกรจัดไว้ให้ หรือวางไว้ตรงขอบจาน
        7. อย่ากระแทกปลายตะเกียบบนโต๊ะจีนมีเสียงดัง
        8. อย่าตัดอาหารจำพวกเส้นหมี่ในงานวันเกิด
     9. อย่ากลับปลาทั้งตัว เมื่อทานเนื้อด้านใดด้านหนึ่งหมด ให้ใช้ตะเกียบหักก้างปลาออกแล้วรับประทานส่วนที่เป็นเนื้อ
       10. อย่าดูดตะเกียบ
ภาพที่ 6.28 การจัดโต๊ะจีน
(ที่มา: http://sukkaphap-d.com)
มารยาทการรับประทานอาหารแบบยุโรป
            การรับประทานอาหารแบบยุโรป ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและจดจำวิธีการ เพราะจะมีอุปกรณ์ในการับประทานหลายชนิด ซึ่งอุปกรณ์แต่ละอย่างต้องมีหลักเกณฑ์ในการหยิบใช้ว่าอุปกรณ์ใดใช้กับอะไร และยังต้องรู้ว่าจะหยิบอะไรด้านไหน ขั้นตอนต่าง ๆ ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องก็จะไม่เคอะเขิน สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และเป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดีแสดงถึงความเป็นผู้ที่มีความรู้และได้รับการอบรมกิริยามารยาทมาเป็นอย่างดี
            1. อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบยุโรปบางอย่างจะต้องมีการหยิบใช้จากด้านซ้ายมือ บางอย่างต้องหยิบใช้จากด้านนอกเป็นคู่ ๆ เช่น มีดกับส้อม ตามรายการเสิร์ฟอาหารอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบยุโรปมีทั้งสิ้น 21 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดต่อไป
            2. หมายเลขอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบยุโรปการหยิบใช้จะต้องหยิบให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ว่าควรหยิบอุปกรณ์ชิ้นไหนใช้คู่กับชิ้นไหน และใช้รับประทานกับอาหารประเภทใด
ภาพที่ 6.29 อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบยุโรป (Table set)
(ที่มา: http://www.foodietaste.com)
            หมายเลข 1 จานรอง
            หมายเลข 2 ผ้าเช็ดมือ
            หมายเลข 3 ช้อนซุป
            หมายเลข 4 มีดออเดิร์ฟ
            หมายเลข 5 มีดหั่นปลา
            หมายเลข 6 มีดหั่นเนื้อ
            หมายเลข 7 ส้อมสำหรับรับประทานเนื้อ
            หมายเลข 8 ส้อมสำหรับรับประทานปลา
            หมายเลข 9 ส้อมสำหรับออเดิร์ฟ
            หมายเลข10 จานใส่ขนมปัง
            หมายเลข 11 ช้อนกาแฟ
            หมายเลข 12 ส้อมสำหรับรับประทานผลไม้
            หมายเลข 13 มีดหั่นผลไม้
            หมายเลข 14 ช้อนไอศกรีม
            หมายเลข 15 ที่ทาเนย
            หมายเลข 16 มีดตัดเนย
            หมายเลข 17 จานรองเนย
            หมายเลข 18 แก้วใส่น้ำเปล่า
            หมายเลข 19 แก้วแชมเปญ
            หมายเลข 20 แก้วใส่ไวน์แดง
            หมายเลข 21 แก้วใส่ไวน์ขาว
3. ลำดับของอาหารชนิดครบชุด อาหารแบบยุโรปจะมีวิธีรับประทานเป็นขั้นตอน ว่าจะรับประทานอะไรก่อนหลัง ดังนี้
            - ออเดิร์ฟ + ขนมปัง จะเสิร์ฟกันในช่วงเดียวกัน
            - ซุป
            - อาหารจำพวกปลา
            - อาหารจำพวกเนื้อ
            - ไอศกรีม
            - อาหารจำพวกเนื้อ
            - สลัดผัก
            การรับประทานอาหารผู้จัดรายการจะเป็นผู้ที่ทราบว่ามีรายการอาหารอะไรบ้าง และรายการใดที่จะตัดออกไป หรือมีครบทุกอย่าง หากรายการอาหารใดถูกตัดออกไป อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารก็จะถูกตัดออกไปด้วย เช่น อาหารประเภทเนื้อ อาจตัดปลาออกไป ก็จะตัดมีดและส้อมสำหรับรับประทานปลา บางครั้งก็อาจจะเพิ่มรายการพิเศษ อาจจะมีหอยนางรมก็ควรเพิ่มส้อมที่ใช้แกะเนื้อหอยนางรม เป็นต้น
            4. ขั้นตอนการรับประทานอาหารแบบยุโรปการรับประทานอาหารแบบยุโรป มีขั้นตอนการหยิบใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ถูกต้องกับอาหารที่บริกรนำมาเสิร์ฟ การใช้อุปกรณ์มีลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้
4.1 ผ้ากันเปื้อนเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกของการรับประทานอาหารที่จะต้องหยิบขึ้นมาใช้ เมื่อเข้าไปนั่งที่เก้าอี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้หยิบผ้ากันเปื้อนคลี่ออก พับออกเป็นสองส่วนหันส่วนที่เป็นริมออกแล้ววางไว้บนตัก ไม่เหน็บไว้ข้างขาหรือผูกไว้ที่คอหรือหน้าอก
ภาพที่ 6.30 การใช้ผ้ากันเปื้อน
(ที่มา: https://www.gotoknow.org)
4.2 การใช้กันเปื้อนเช็ดริมฝีปาก หรือเช็ดนิ้วมือที่อาจจะเปื้อนอาหาร ให้ใช้ขอบของผ้าซับริมฝีปากเบา ๆ ไม่เช็ดถูรุนแรง และจะไม่ใช้ส่วนกลางของผ้าในการเช็ดรอยเปื้อนบนริมฝีปาก
4.3 ผ้ากันเปื้อนเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ก่อนลุกขึ้นจากโต๊ะให้วางผ้ากันเปื้อนไว้บนโต๊ะด้านซ้ายมือ อาจจะพับเป็น 4 ส่วน หรือไม่พับก็ได้ ถ้าในกรณีที่ยังรับประทานอาหารอยู่ แต่ต้องการลุกไปห้องน้ำ หรือาทำธุระส่วนตัว ให้วางผ้ากันเปื้อนไว้ที่เก้าอี้ หรือวางไว้ข้างโต๊ะโดยใช้จานอาหารทับเอาไว้ก็ได้
4.4 การรับประทานอาหาร ซุปถือเป็นอาหารอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการรับประทานไม่ใช่ดื่ม ดังนั้นการรับประทานซุปถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารประเภทน้ำแต่ต้องรับประทานไม่ให้เกิดเสียงดัง และไม่หกเลอะเทอะ จึงมีเทคนิคในการใช้ช้อนตักซุปเพื่อรับประทาน ดังนี้
   4.4.1 การตักซุป จะตักจากด้านใกล้ตัวออกด้านนอก หรือจากด้านนอกเข้าหาตัวก็ได้แต่การใช้ช้อนจะต้องตะแคงช้อนน้ำซุปออกนอกตัวถ้ากลัวว่าจะมีซุปหยดก็อาจใช้ช้อนปาดเบา ๆ กับขอบถ้วยซุป แต่ต้องไม่ให้เกิดเสียงดัง เมื่อซุปใกล้หมดใช้มือซ้ายยกถ้วยซุปตะแครง เพื่อตักซุปทานจนหมดได้
4.4.2 การตักซุปเข้าปาก ให้ใช้ปลายช้อนส่วนใกล้ด้านหน้าเอียงช้อนเป็นเส้นทแยงมุม ก้มหน้าลงเล็กน้อยแล้วรับประทานอย่าให้เกิดเสียงดัง
4.4.3 เมื่อรับประทานซุปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้วางช้อนหงายขึ้นไว้ในถ้วยซุป โดยให้ด้ามช้อนเอียงออกด้านข้าง หรือจะวางไว้ที่จานรองก็ได้ (ถ้าจานรองใหญ่พอที่จะวาง)
ภาพที่ 6.31 การตักซุป
(ที่มา: www.oknation.net)
4.5 การรับประทานขนมปัง ออเดิร์ฟ และซุป ส่วนใหญ่แล้วจะถูกเสิร์ฟในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน  การรับประทานก็จะหยิบอุปกรณ์ต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน การรับประทานออเดิร์ฟจะใช้มีดและส้อมออเดิร์ฟ การรับประทานออเดิร์ฟ มือขวาจับมีดออเดิร์ฟ มือซ้ายถือส้อม
ในขณะเดียวกันถ้าต้องการรับประทานขนมปังด้วยก็สามารถใช้มือฉีกขนมปังได้ โดยมีขั้นตอนในการรับประทานขนมปัง ดังนี้
หยิบขนมปังàฉีกขนมปังบนจานรองชิ้นพอคำàหยิบขนมปังที่เหลือไว้ที่จานรองàจับขนมปังด้วยมือซ้ายทาเนยàเก็บมีดทาเนยไว้ที่เดิม4.6 การรับประทานออเดิร์ฟ ออเดิร์ฟเป็นอาหารเบา ๆ เพื่อเรียกน้ำย่อยเป็นการเพิ่มบรรยากาศในการรับประทานอาหารบนโต๊ะได้ดีอย่างยิ่ง การรับประทานออเดิร์ฟไม่ต้องรับประทานให้มากจนเกินไปเพราะยังมีรายการอาหารอื่น ๆ ที่จะต้องเสิร์ฟตามมา ออเดิร์ฟบางอย่าง เช่น พวกขนมปังที่ตัดเป็นชิ้นพอคำประดับด้วยผักสดไว้บนขนมปัง สามารถใช้มือหยิบรับประทานได้ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับรับประทานออเดิร์ฟ คือ มีดและส้อมออเดิร์ฟ   
4.7 การรับประทานอาหารประเภทปลา เมื่ออาหารประเภทปลาถูกเสิร์ฟออกมา อุปกรณ์ที่จะต้องหยิบใช้บนโต๊ะอาหาร คือ มีดและส้อมรับประทานปลา ในการรับประทานปลาที่มีหัวและหางปลาด้วย ให้ใช้มีดและส้อมเลาะเนื้อปลาเด้านบนออกมาวางไว้ในจานด้านที่ใกล้ตัว จากนั้นรับประทานจนหมด ต่อไปใช้ส้อมกดตรงหัวปลา ใช้มีดสอดเข้าไปใต้ก้างปลาดึงก้างปลาออกมา (ไม่ต้องกลับพลิกตัวปลา) มือซ้ายที่ถือส้อมกดหัวปลาให้แน่นพอสมควร เพื่อเลาะก้างปลาออก การรับประทานปลาให้เริ่มตัดเนื้อปลาเป็นชิ้นพอคำ และเริ่มรับประทานจากด้านซ้ายมือ
เนื่องจากปลาที่นิยมรับประทานมีหลายชนิด เช่น ปลาลิ้นหมาเป็นที่นิยมรับประทานกันมาก ในบรรดาอาหารตะวันตก ลักษณะของปลาลิ้นหมาคือจะมีเนื้อเพียงด้านเดียว อีกด้านของตัวปลาจะแบนไม่มีเนื้อ ในการรับประทานจึงต้องเลาะก้างปลาและครีบออก นำส่วนที่เป็นก้างปลาและครีบที่เลาะวางไว้ด้านตรงข้ามของตัวปลาจึงรับประทานเนื้อปลา
ปลาบางชนิดมีลำตัวกว้าง หากเลาะเนื้อส่วนหน้าออกมาทั้งหมดจะชิ้นใหญ่เกินไป รับประทานยาก จึงจะต้องใช้วิธีแบ่งตัวปลาเป็น 2 ซีก (แบ่งตามยาวของตัวปลา) ใช้มีดและส้อมเลาะส่วนนั้นออกมารับประทานก่อน จากนั้นรับประทานส่วนที่เหลือ เมื่อรับประทานหมดแล้วก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือให้เลาะก้างปลาออกโดยไม่ต้องพลิกตัวปลา
ภาพที่ 6.32 การรับประทานปลา
(ที่มา: www.baanjomyut.com)
4.8 การรับประทานอาหารประเภทเนื้อจะต้องใช้วิธีการตัด อุปกรณ์ที่จะต้องหยิบขึ้นมาใช้ก็คือมีดและส้อมสำหรับรับประทานเนื้อ อาหารประเภทเนื้อบางครั้งก็จะถูกเสิร์ฟมามีกระดูกติดมาด้วย หรืออาจจะไม่มีก็ได้ การรับประทานก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก ใช้มือขวาจับมีด มือซ้ายจับส้อม กดชิ้นเนื้อแล้วตัดเป็นชิ้นเนื้อแล้วตัดเป็นชิ้นเล็กพอคำ ตัดเป็นชิ้นทีละคำ รับประทานไปจนหมดไม่ควรตัดเนื้อ
เป็นชิ้นเล็ก ๆ ไว้เต็มจาน เพราะนอกจากไม่น่าดูแล้วยังทำให้เสียรสชาติด้วย การรับประทานเนื้อจะมีผักเครื่องเคียงเสิร์ฟมาด้วย ก็ควรจะรับประทานผักคู่กับเนื้อด้วย เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารด้วย
ภาพที่ 6.33 การรับประทานเนื้อ
(ที่มา: www.wongnai.com)
4.9 การรับประทานสลัดผักสลัดผักจะถูกเสิร์ฟมาพร้อม ๆ กับอาหารจำพวกเนื้อจะรับประทานเนื้อพร้อมกับสลัดผัก หรือจะรับประทานเนื้อให้เสร็จก่อนแล้วค่อยรับประทานสลัดผักก็ได้ ขึ้นอยู่กับความชอบและการตัดสินใจของแต่ละคน แต่โดยปกติแล้วนิยมรับประทานสลับกับเนื้อที่เย็น ตามหลักการรับประทานอาหารแบบยุโรป การรับประทานสลัดผักใช้ส้อมเพียงอย่างเดียว ถ้าผักชิ้นใหญ่ก็ให้ใช้ด้านข้างของส้อมตัดผัก แต่ในบางครั้งผักชิ้นใหญ่และแข็งตัดด้วยส้อมไม่ได้ก็ใช้มีดหั่นได้
การรับประทานสลัดผักสลัดมีส่วนผสมหลายชนิด โดยรวมแล้วจะเป็นผักและอาจจะมีพวกถั่วต่าง ๆ เช่น ถั่วลันเตา ในการรับประทานจึงต้องใช้เทคนิคในการใช้ส้อม คือ ตักพัน และจิ้ม ขึ้นอยู่กับว่าจะตักอะไรพันอะไร และจิ้มกับอะไร เมล็ดถั่วต่าง ๆ ให้ใช้วิธีเอาหลังส้อมกดให้แบนแล้วใช้ส้อมตักรับประทานผักบางชนิดก็ใช้พัน เป็นต้น
4.10 การเก็บมีดและส้อมเมื่อรับประทานอาหารจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรจะเก็บมีดและส้อมให้ถูกต้องตามหลักการรับประทานอาหารแบบยุโรป เพื่อแสดงถึงการรู้หลักมารยาทตั้งแต่การเริ่มรับประทานอาหารจนครบถึงขั้นตอนสุดท้าย คือรับประทานอาหารจนอิ่มแล้ว เป็นการบอกให้บริกรได้ทราบและจะได้เก็บอุปกรณ์คือ จาน มีด และส้อม
ภาพที่ 6.34 การวางอุปกรณ์เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ
(ที่มา: http://www.manager.co.th)
4.11 การรับประทานไอศกรีมให้เริ่มรับประทานจากส่วนที่คนอื่นมองดูไม่เห็น คือด้านที่อยู่ใกล้ตัวเราก่อน ตักรับประทานเป็นคำ ๆ ไม่คนไอศกรีมรวมกับส่วนผสมอื่น ๆ เข้าด้วยกันเพราะ    ไม่น่าดู ถ้าจะรับประทานส่วนผสมอื่นที่รวมมา เช่น กล้วย สตรอเบอร์รี่ เชอร์รี่ก็ให้ตักรับประทานรวมกับไอศกรีม เป็นคำ ๆ มองดูแล้วสะอาด
4.12 การรับประทานผลไม้
4.12.1 กล้วย จะถูกเสิร์ฟเป็นลูก ๆ โดยจะตัดส่วนหัวและท้ายออกแล้วหรืออาจจะตัดเพียงส่วนหัวออกไป วิธีรับประทานกล้วย ใช้ส้อมกดผลกล้วยไว้แล้วใช้มีดผ่าเปลือกกล้วยตามแนวยาวด้านใกล้ตัวและด้านตรงข้าม ใช้มีดและส้อมจับเปลือกกล้วยส่วนที่ผ่าดึงออกไปนำไปเก็บไว้ข้างจานด้านตรงข้ามกับมือ ตัดกล้วยเป็นชิ้นพอคำรับประทานโดยเริ่มจากซ้ายมือจะไม่ตัดกล้วยออกเป็นชิ้น ๆ แต่จะตัดรับประทานทีละคำ              
4.12.2 การรับประทานองุ่น เชอร์รี่ สตอเบอร์รี่ ผลไม้จำพวก องุ่น เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ เป็นผลเล็ก ๆ สามารถใช้มือหยิบรับประทานได้ ถ้าเป็นองุ่นผลไม้ใหญ่ต้องการจะปอกเปลือกก็ให้ปอกแล้วนำเปลือกไว้บนจาน การนำเมล็ดออกจากปากให้ใช้มือรองไว้ที่ปากหยิบออกมา จากนั้นก็ไว้ที่ขอบจานของตัวเอง
4.12.3 การดื่มเครื่องดื่ม ชา กาแฟ การดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของ   แต่ละคนว่าจะใส่น้ำตาล นม เท่าไร หรือจะไม่ใส่เลยก็ไม่มีกฎเกณฑ์ แต่มีข้อควรระวังเกี่ยวกับมารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจะละเลยไม่ได้ เช่น การใส่ก้อนน้ำตาลลงในถ้วยกาแฟ ให้ใช้คีมหยิบน้ำตาลใส่ในช้อนกาแฟก่อน แล้วค่อย ๆ จุ่มลงในถ้วยกาแฟถ้าเป็นนมหรือเป็นครีมก็ให้ระมัดระวังอย่าให้หกเลอะเทอะ ใช้ช้อนกาแฟคนเบา ๆ วิธีคนใช้ปลายช้อนกดลงให้ถึงก้นของถ้วยกาแฟ หมุนวนเป็นวงกลมเบา ๆ ไม่ให้มีเสียง จนน้ำตาลหรือครีมละลายจากนั้นเก็บช้อนไว้ที่จานรองการชิมกาแฟ จะไม่ใช้ช้อนกาแฟตักชิมเป็นอันขาด ให้ยกถ้วยกาแฟขึ้นมาจิบเบา ๆ เพื่อชิมรสชาติว่าพอใจหรือยัง การใช้ช้อนกาแฟตักชิมถือเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมแสดงถึงการขาดความรู้ในเรื่องของมารยาทบนโต๊ะอาหาร
ขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นมารยาทในการรับประทานอาหารแบบยุโรป ซึ่งมีอุปกรณ์ในการรับประทานต่อหนึ่งคนจำนวนหลายชิ้น จึงต้องพึงจำไว้ว่าการหยิบอุปกรณ์ผิดด้านจะทำให้คนอื่น ๆ ผิดตามไปด้วย และการใช้อุปกรณ์ เช่น มีดและส้อมจะต้องหยิบจากด้านอกสุดเข้ามา    ด้านในเป็นคู่ ๆ การหยิบขนมปัง เนยให้หยิบด้านซ้ายมือของตัวเอง แก้วน้ำดื่ม และแก้วเครื่องดื่มต่าง ๆ จะอยู่ด้านขวามือการรับประทานอาหารในจานหลัก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ปลา ผักผลไม้ จะเริ่มรับประทานจากซ้ายมือเสมอ จึงควรได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัย เพราะจะทำให้เป็นบุคคลที่มีกิริยามารยาทที่น่าดูเป็นอย่างยิ่ง
มารยาทการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น
            “อาหารญี่ปุ่น” เป็นกลุ่มอาหารเอเชียที่มีบทบาทต่อสังคมโลกเป็นที่รู้จักกันมานานโดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่กระแสความนิยมการบริโภคอาหารต่างชาติ มีความต้องการจากผู้บริโภคมากขึ้น อาหารและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นจึงมาพร้อมกับกระแสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคม และวัตถุกลุ่มอาหารที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่นเช่น ข้าวปั้นแบบญี่ปุ่น (sushi) หรือน้ำซุปเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น(misoshiru) กลุ่มอาหารชุบแป้งทอด (tempura) เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการเรียนรู้ที่ถูกต้องผู้เรียนต้องเข้าใจในวิธีคิด และวัฒนธรรมตลอดจนความเป็นตัวตนของชนชาตินั้นก่อนจึงจะเข้าใจในหลักของ  การรับประทานอาหารและมารยาทต่าง ๆ คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีความพิถีพิถันในเรื่องของคุณภาพการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกินจะต้องสะอาด อร่อย ถูกหลักอนามัย กิริยา           การรับประทานอาหารซึ่งบางชนชาติถือว่าไม่สุภาพ แต่ในทางตรงกันข้ามอีกชนชาติหนึ่งบอกว่าเป็นการแสดงออกถึงสิ่งที่ดี เช่น การรับประทานอาหารประเภทเส้นโซบะของคนญี่ปุ่น ต้องใช้วิธีดูดเข้าปากถึงแม้จะเกิดเสียงดังก็ยิ่งเป็นการดี เพราะถือว่าอาหารนั้นอร่อยถูกปาก แต่คนตะวันตกกล่าวว่า    การรับประทานสปาเก็ตตี้ จะต้องใช้ส้อมพันเส้นสปาเก็ตตี้ ม้วนเป็นคำเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ รับประทาน จึงจะถือว่ามีมารยาทในการรับประทาน
            อาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมจะถูกเสิร์ฟออกมาเป็นชุดสำหรับแต่ละคนในชุดอาหารจะมีถ้วยหรือจานเล็กที่ใส่อาหารแต่ละอย่าง เช่น ของต้ม ของย่าง ผักดอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องมีถ้วยข้าว และ    ถ้วยซุป อยู่ตรงข้างหน้าถ้วยข้าวต้องวางอยู่ด้านซ้ายมือและถ้วยซุปต้องอยู่ด้านขวามือ ถ้าวางสลับกัน  คนญี่ปุ่นถือว่าไม่ค่อยดี อย่างไรก็ดีการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่นก็มีหลักมารยาทที่ควรเรียนรู้ ดังนี้
1. มื้ออาหารของคนญี่ปุ่น
            คนญี่ปุ่นรับประทานอาหาร 3 มื้อ คล้ายคนไทย โดยในแต่ละมื้อจะมีชื่อเรียก ช่วงเวลาและลักษณะการรับประทานอาหารที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.1 อาหารเช้า เริ่มตั้งแต่ 07.00-08.00 น. ลักษณะของอาหารจะเป็นง่าย ๆ มีข้าวสวย กับซุป  ปลาหวาน ผักดอง ผักต้ม และไข่ม้วน เป็นต้น
ภาพที่ 6.35 อาหารญี่ปุ่นมื้อเช้า
(ที่มา: www.food.mthai.com)
1.2 มื้อกลางวัน เริ่มตั้งแต่ 12.00-13.00 น. ลักษณะของอาหารจะเป็นสำรับ อาจเป็นอาหารจานเดียว กับผักดอง และน้ำซุป
ภาพที่ 6.36 อาหารญี่ปุ่นมื้อกลางวัน
(ที่มา: www.ilovetogo.com)
1.3 มื้อเย็น เริ่มตั้งแต่ 17.00-19.00 น. ลักษณะของอาหารมักมีปลาเป็นส่วนประกอบ จัดเป็นมื้อใหญ่เหมือนคนไทย การรับประทานก็จัดเป็นสำรับคล้ายกับของไทย
ภาพที่ 6.37 อาหารญี่ปุ่นมื้อเย็น
(ที่มา: www.educatepark.com)
            2. มารยาทรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้ตะเกียบในการรับประทาน จึงมีความจำเป็นที่คนต่างชาติจะต้องเรียนรู้มารยาท และกิริยาท่าทางที่ไม่ควรปฏิบัติในการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น มีดังต่อไปนี้
2.1 ไม่ใช้ตะเกียบหยิบอาหารแล้วส่งให้ผู้อื่นโดยคนที่รับก็ใช้ตะเกียบรับอาหารนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากไม่ได้เรียนรู้ก็จะไม่ทราบ และจะยังคงปฏิบัติกันอยู่เพราะการใช้ตะเกียบหยิบของแล้วส่งต่อให้กันนั้นใช้สำหรับพิธีการที่ไม่ใช่งานมงคล จึงควรหลีกเลี่ยง
2.2 ถือตะเกียบแล้วส่ายไปมาบนอาหารหลายชนิด เพื่อจะหยิบอาหารแต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกอย่างไหนดี
2.3 ใช้ตะเกียบแทงเสียบของรับประทาน ถือเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ
2.4 ใช้ตะเกียบคุ้ยอาหารในถ้วย เพื่อหาชิ้นของอาหารที่ต้องการ
มารยาทในการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่นที่กล่าวมาเป็นมารยาทที่เป็นพื้นฐานง่าย ๆ ซึ่ง     ไม่เป็นพิธีการมากนัก เพียงแต่เป็นมารยาทโดยทั่ว ๆ ไปที่ควรได้รู้และนำไปปฏิบัติ

สรุปสาระสำคัญ
การได้ศึกษาหาความรู้ถึงหลักมารยาทถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด     บรรพบุรุษได้พยายามสั่งสอน วางหลักเกณฑ์สิ่งที่ดีงามเพื่อให้ลูกหลานในรุ่นต่อ ๆ ไปได้ยึดถือปฏิบัติ นับเป็นความงดงามของสังคมที่ควรจะได้อยู่คู่กับทุกชนชาติ เพราะการมีมารยาทที่ดีเป็นสิ่งที่ช่วยให้สังคมดี สังคมน่าอยู่ช่วยเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยว และขัดเกลาให้คนเป็นคนดี มีคุณค่าในตัวเอง คุณค่าของสังคมไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาทที่ดีด้านใด ย่อมทำให้ผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้มองดูดีในสายตาของคนอื่น และตัวผู้ปฏิบัติเองก็เกิดความภาคภูมิใจ
มารยาทเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงลักษณะนิสัยภายในบุคคล และเป็นค่านิยมในทางสุภาพอ่อนโยนอ่อนน้อม ดีงาม สามารถสร้างความยินดีและความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น ผู้ที่ติดต่อสมาคมด้วย ผู้ที่มีกิริยามารยาทดีงามและรู้จักการวางตัวที่เหมาะสมในสังคม ย่อมเป็นผู้ที่มีเสน่ห์ เป็นที่น่าสนใจของผู้อื่น อีกทั้งยังดูมีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นบุคคลจึงควรแสดงออกอย่างดีงาม ไม่ว่าจะเป็นกิริยา อาการ และถ้อยคำวาจา เพื่อทำให้เป็นผู้มีคุณค่าและเป็นที่     ชื่นชมของทุกคนในสังคม
คำศัพท์ (Vocabulary)
คำศัพท์
คำแปล
Table set
อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารยุโรป
Sushi
ข้าวปั้นแบบญี่ปุ่น
Mososhiru
น้ำซุปเต้าเจี้ยงญี่ปุ่น
Tempura
อาหารชุบแป้งทอง




ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 6
มารยาททางสังคม
ใบงานที่             6.1
เรื่องที่ศึกษา        มารยาทพื้นฐานทางสังคม
วัตถุประสงค์      อธิบายมารยาทพื้นฐานทางสังคมได้
คำชี้แจง             1. ให้นักเรียนจับสลากแบ่งเป็นกลุ่ม จำนวน 7 กลุ่ม
2. ให้แต่ละกลุ่มฝึกปฏิบัติมารยาทพื้นฐานทางสังคม ดังนี้
            2.1 มารยาทในการทักทาย
            2.2 มารยาทต่อคนในครอบครัว
            2.3 มารยาทต่อคุณครู
            2.4 มารยาทต่อเพื่อน
            2.5 มารยาทต่อเพื่อนต่างเพศ
            2.6 มารยาทในห้องเรียน
3. ถ่ายภาพพร้อมบรรยายการปฏิบัติมารยาทพื้นฐานทางสังคม
4. จัดทำเป็นรูปเล่มรายงาน
5. นำผลงานเสนอหน้าชั้นเรียน
6. ครูและเพื่อน ๆ ร่วมกันประเมินผลงาน
7. นำผลงานส่งครู


ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 6
มารยาททางสังคม
ใบงานที่             6.2
เรื่องที่ศึกษา        การรับประทานอาหารในรูปแบบต่าง ๆ
วัตถุประสงค์      มีทักษะและกิริยามารยาทในการรับประทานอาหารในรูปแบบต่าง ๆ ได้
คำชี้แจง             1. ให้นักเรียนจับสลากแบ่งเป็นกลุ่ม จำนวน 7 กลุ่ม
2. ให้แต่ละกลุ่มฝึกปฏิบัติมารยาทพื้นฐานทางสังคม โดยจับสลากกลุ่มละ 1 หัวข้อ
            2.1 การรับประทานอาหารประเภทปลา
            2.2 การรับประทานซุบ
            2.3 การรับประทานอาหารประเภทเนื้อ
            2.4 การรับประทานสลัดผัก
            2.5 การรับประทานกล้วย
            2.6 การดื่มเครื่องดื่มชา หรือกาแฟ
            2.7 การพับผ้ากันเปื้อนและการใช้ผ้ากันเปื้อน
3. จัดเตรียมอุปกรณ์และส่งตัวแทนสาธิตหน้าชั้นเรียนตามหัวข้อที่จับสลาก
4. ครูและเพื่อน ๆ ร่วมกันประเมินผลงาน



การประเมินผล (สำหรับนักเรียนประเมินตนเอง)
คำชี้แจง  ให้นักเรียนเขียนเครื่องหมาย ü ลงในช่องคะแนนให้ตรงกับความเป็นจริง
1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. มีวินัย
1.1 มีการวางแผนการทำงานและจัดระบบการทำงาน



1.2 ทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่วางไว้



1.3 ตรวจสอบความถูกต้อง ความเรียบร้อย คุณภาพของงาน



2. มีความรับผิดชอบ
2.1 ยอมรับผลการกระทำของตนเองทั้งผลดีและผลเสีย



2.2 ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์



2.3 ทำงานได้ตามกำหนดเวลา ตรงต่อเวลา



3. สนใจใฝ่รู้
3.1 มีความกระตือรือร้นและสนใจที่จะแสวงหาความรู้



3.2 ซักถาม ฟัง หรือสนทนาด้วยความสนใจ



3.3 มีความสุขที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้



4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4.1 คิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดประโยชน์ และพัฒนางานอยู่เสมอ



4.2 แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้



4.3 มีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดี



5. มีความผูกพัน   จิตสาธารณะ
5.1 เสียสละ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่



5.2 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน



5.3 แสดงกิริยาสุภาพ อ่อนน้อม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 45 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 9 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน

2. ด้านทักษะ กระบวนการ
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. การคิด
1.1 ใช้วิธีการสื่อสารในการนำเสนอข้อมูลได้เหมาะสม



1.2 เลือกข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



1.3 สรุปความคิดรวบยอดและสาระสำคัญของเรื่องที่เรียนได้



2. การแก้ปัญหา
2.1 ตั้งคำถามเรื่องที่จะศึกษาได้อย่างเป็นระบบ



2.2 รวบรวมข้อมูลความรู้ ได้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ



2.3 นำข้อมูลความรู้ที่ได้รับไปใช้แก้ปัญหาได้



3. การสื่อสาร
3.1 ใช้วิธีการสื่อสารนำเสนอข้อมูลได้อย่างเหมาะสม



3.2 เลือกรับข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



4. การใช้เทคโนโลยี
4.1 ค้นคว้าข้อมูลความรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง



4.2 เลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีคุณธรรม



5. ทักษะกระบวนการกลุ่ม
5.1 มีส่วนร่วมในการวางแผนและแบ่งหน้าที่ของกลุ่ม



5.2 เป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในการทำงานกลุ่ม



5.3 ภูมิใจและพอใจในผลงานและการทำงานกลุ่ม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 39 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 7.8 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน







ไม่มีความคิดเห็น: