บทที่ 2 การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก


แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
บุคลิกภาพเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน บุคลิกภาพที่มีเสน่ห์ใครเห็นใครก็ชอบ ใครเห็นใครก็รัก จึงเป็นยอดปรารถนาของทุกคน บางคนแม้เห็นแค่ครั้งเดียวก็อยากคบหาสมาคมหรือพูดจาด้วย เพราะชอบกิริยาท่าทาง หน้าตา การยิ้ม การพูดจา ความเอื้ออาทรต่อกัน ทุกหน่วยงานต่างปรารถนาที่จะได้คนดี คนเก่งมาทำงาน เพื่อให้ลูกค้าประทับใจและปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงานคนอื่นได้ รวมทั้งกล้าที่จะช่วยคิด ช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือทำประโยชน์ให้หรือสามารถประเมินสถานการณ์เข้าใจปัญหา และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก ต้องเริ่มจากการสำรวจข้อบกพร่องของตนเอง ยอมรับหรือเผชิญความจริงโดยไม่เข้าข้างตนเอง นำข้อบกพร่องที่สำรวจพบ มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้บุคลิกภาพภายนอกดีขึ้น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง และเป็นที่ประทับใจแก่บุคคลอื่นที่ต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย
หัวข้อเรื่อง (Topics)
1. ความหมายของการพัฒนาบุคลิกภาพ
2. ความหมายของบุคลิกภาพภายนอก
3. ขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพ
4. การปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอก
5. การดูแลและพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
สมรรถนะย่อย (Element of Competency)สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
             1. แสดงความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
             2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
1. อธิบายความหมายของการพัฒนาบุคลิกภาพได้
2. อธิบายความหมายของบุคลิกภาพภายนอกได้
3. อธิบายขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพได้
4. บอกวิธีการปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอกได้

5. นำวิธีการดูแลและพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกไปใช้ในชีวิตประจำวันได้




เนื้อหา
ในชีวิตประจำวันของคนเราต้องมีการพบปะ พูดคุย และปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ที่เพิ่งสร้างขึ้นมานั้นดำเนินต่อไปได้ ด่านแรกก็คือ การสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบให้กับฝ่ายตรงข้าม และการที่จะสร้างความประทับใจได้นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการมีบุคลิกภาพภายนอกที่ดีเป็นส่วนในการสร้างความสัมพันธ์นั่นเอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาเราเจอใครครั้งแรก ความรู้สึกที่จะบอกว่าจะชอบ หรือไม่ชอบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากบุคลิกภาพ กิริยาท่าทาง    การแสดงออก การแต่งกายของฝ่ายตรงข้าม ณ เวลานั้น หลังจากนั้นจึงไปสู่ขั้นตอนของการพูดจา เพื่อทำความรู้จักกับทัศนคติ และตัวตนที่ลึกซึ้งต่อ ๆ ไป
นอกจากสร้างบุคลิกภาพที่น่าประทับใจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ ๆ แล้ว การรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน และการที่คนคนหนึ่งมีบุคลิกภาพภายนอกที่ดี และประทับใจต่อคนรอบข้างนั้น ถือว่าคนคนนั้นมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้วที่จะพบกับความสำเร็จได้โดยง่าย และบุคลิกภาพภายนอกที่ดีก็เป็นต้นทุนที่ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องใช้เงิน เป็นต้นทุนที่มีมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถฝึกฝนกันได้ตลอดเวลา การที่จะสร้างบุคลิกภาพให้น่าประทับใจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ ก่อนอื่นต้องปรับทัศนคติให้ได้เสียก่อน ว่าต้องการจะมีบุคลิกภาพที่ดี หลังจากนั้นก็ต้องรู้จักระมัดระวังตัว มีสติรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และวางตัวให้เหมาะกับกาลเทศะ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การแต่งกาย การพูดจา การเดิน การนั่ง ไปจนถึงการตรงต่อเวลา
ความหมายของการพัฒนาบุคลิกภาพ
การพัฒนาบุคลิกภาพ (Personality Development) หมายถึง การปรับปรุงพฤติกรรมของบุคคลเพื่อขจัดข้อบกพร่องและเพิ่มจุดเด่น โดยพยายามขจัดข้อบกพร่องให้ออกไปมากที่สุด และพยายามปรับปรุงพัฒนาเพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และภาพพจน์ของบุคคลนั้นให้เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธา โดยการปรับปรุงทั้งภายในและภายนอก กิริยามารยาท การแต่งกาย การแสดงออกทางอารมณ์ และคำพูดกระบวนการที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และบุคคลมีทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ
มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ไมมีใครที่เกิดมาพรอมความสมบูรณ์ของบุคลิกภาพในทุกองค์ประกอบแต่ละบุคคลล้วนมีความบกพร่องบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นบุคคลจึงจำเป็นต้องปรับปรุงหรือพัฒนาบุคลิกภาพในส่วนที่บกพรองของตนเองให้มีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
มนุษย์เรา           ต่างเขตคาม                    ต่างความคิด
หลายหลากจิต                 คิดค้น                            คนละอย่าง
ใช้พื้นฐาน                     เคยพบเห็น                     เป็นแนวทาง

ทั้งดีบ้าง                         เลวบ้าง                          ต่างกันไป
ความหมายของบุคลิกภาพภายนอก
บุคลิกภาพภายนอก (External Personality) หมายถึง ลักษณะภายนอกที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนของแต่ละคน ซึ่งอาจหมายถึง สรีระทางกาย กิริยาท่าทางต่าง ๆ การเคลื่อนไหว รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย การใช้น้ำเสียง ศิลปะการพูด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นบุคลิกภาพภายนอกทั้งสิ้น ซึ่งบุคลิกภาพภายนอกสามารถปรับปรุงได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน
ภาพที่ 2.1 การยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี แต่งกายดี ล้วนเป็นบุคลิกภาพภายนอกที่ดี
(ที่มา: http://www.impressionconsult.com) 
ขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพ
แม้ว่าบุคลิกภาพบางอย่างจะถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เกิด แต่ถ้าคนเรามีความมั่นใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะบุคลิกภาพภายนอกสามารถปรับปรุงได้โดยใช้เวลาไม่นาน และเพื่อให้การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นไปอย่างถูกต้องและได้ผล ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ตระหนักในความสำคัญของบุคลิกภาพ บุคลิกภาพนับเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่ออาชีพและอนาคต จึงมีการให้ความสำคัญและตื่นตัวในการพัฒนาบุคลิกภาพกันมากขึ้น ดังจะเห็นว่ามีการบรรจุหลักสูตรการพัฒนาบุคลิกภาพให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้โดยเฉพาะงานด้านบริการต่าง ๆ การจัดตั้งศูนย์หรือสถาบันส่งเสริมการพัฒนาบุคลิกภาพ เช่น ชมรมฝึกพูด การวางตัว การเข้าสมาคม การแสดงอิริยาบถในสังคม มีนิตยสารและคอลัมน์ในนิตยสารกล่าวถึงหัวข้อหรือบุคคลต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน บุคลิกภาพกับความสำเร็จในการทำงาน สาเหตุของความล้มเหลวในชีวิตเป็นต้น และหาทางพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาหาความรู้และนำมาปฏิบัติ
             2. ประเมินบุคลิกภาพของตนทั้งด้านดีและด้านที่บกพร่อง ก่อนการพัฒนาบุคลิกภาพต้อง      ทำการประเมินบุคลิกภาพของตนเองก่อนโดยประเมินข้อดีข้อเสียของตนเอง การประเมินตนเองเป็นเรื่องค่อนข้างยากเพราะบางครั้งคนเราไม่ค่อยยอมรับความบกพร่องเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนมากมักจะคิดว่าตัวเองถูก ตัวเองดี ตัวเองเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกประการ ฉะนั้นจึงถือเป็นเรื่องยาก เว้นแต่เราต้องเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดเสียใหม่โดยพิจารณาถึงหลักความจริงว่าสี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้งคนเราก็ต้องมีบ้างที่บางครั้งทำอะไรไม่ถูกต้องและรับฟังคำวิจารณ์จากผู้ใกล้ชิด เช่น บิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อน โดยเก็บข้อดีไว้ และนำข้อบกพร่องมาปรับปรุงและพัฒนา
3. มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงและพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างจริงจังและถูกวิธี เมื่อได้ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลิกภาพและได้ประเมินข้อดีข้อเสียของตนเองแล้ว จะต้องศึกษาวิธีการปรับปรุงข้อบกพร่องด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง และมีความสม่ำเสมอในเรื่องต่อไปนี้ คือ
3.1 การปรับปรุงท่วงท่า (Appearance)
3.2 การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง (Self Confidence)
3.3 การปรับปรุงมนุษย์สัมพันธ์ (Human Relationship)
3.4 การเสริมสร้างความคิดอย่างมีเหตุผล มีความคิดริเริ่ม และการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ (Reasoning Thinking, Creative Thinking, and Problem Solving) บุคลิกภาพเป็นสมบัติเฉพาะตัวยังไม่มีใครมีบุคลิกภาพเหมือนกันทุกประการ บุคลิกภาพที่ดีที่สุดไม่มี มีแต่ว่าจะปรับปรุงให้บุคลิกภาพดีขึ้นได้อย่างไร
การปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอก
การปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอก หมายถึงสิ่งที่สังเกตเห็นไดชัดหรือสัมผัสไดการปรับปรุง   แกไขสามารถทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อยและวัดผลไดทันที ประกอบด้วย
1. การปรับปรุงรูปร่างหน้าตา โดยการดูแลบำรุงรักษาให้สะอาดเรียบร้อยปราศจากสิ่ง            น่ารังเกียจ หากรูปร่างมีข้อบกพร่องอาจใช้วิธีการแต่งกายที่เหมาะสม ช่วยในการอำพรางหรือเสริมแต่งให้ดูดีขึ้น เหมาะสมกับวัย ฐานะ และกาลเทศะ
ภาพที่ 2.2 การพอกหน้า เป็นการดูแลผิวพรรณวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ง่าย
2. การรักษาสุขภาพ ด้วยการทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ เพราะผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงมักมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย จึงควรบำรุงดูแลร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้อารมณ์ดีอยู่เสมอ
ภาพที่ 2.3 การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นการรักษาสุขภาพที่ดี
(ที่มา: www.mirworldwide.com)
3. การปรับปรุงกิริยาท่าทาง ควรปรับปรุงกิริยาท่าทางให้สุภาพ อ่อนโยน เหมาะสม เช่น       การไหว้เพื่อแสดงความเคารพ หรือแสดงการทักทายตามวัฒนธรรมไทยควรเดินและนั่งอย่างรักษากิริยามารยาทที่ดี ไม่มองคนด้วยหางตา ฝึกการมองให้เป็นไปในทางที่ดี เป็นต้น
ภาพที่ 2.4 กิริยาท่าทางที่เหมาะสม ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน
(ที่มา: www.princessaumaim.blogspot.com)
4. การปรับปรุงการแต่งกาย การแต่งกายเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่เสริมบุคลิกภาพของบุคคลจึงควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงามเหมาะสมแก่โอกาส เพื่อเป็นการสร้างเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
ภาพที่ 2.5 การแต่งกายถูกต้อง เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น
(ที่มา: http://www.manager.co.th) 
5. การปรับปรุงการพูด สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างมิตรภาพกับบุคคลคือการพูดเนื่องจากเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดความเชื่อค่านิยม ทัศนคติที่มีต่อตนเองและผู้อื่น เราจึงควรฝึกพูดให้มีความไพเราะเลือกใช้ถ้อยคำและน้ำเสียงที่แสดงความจริงใจ รวมถึงฝึกการฟังผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าสิ่งที่พูดมีความสำคัญส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดีของตนเอง
ภาพที่ 2.6 ท่วงท่าการพูดที่ดี ส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดี
(ที่มา: http://www.manager.co.th) 
6. การปรับปรุงการทำงาน บุคคลที่ทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ไดดีเด่น มีลักษณะคล่องแคล่ว ว่องไวด้วยลักษณะท่าทางที่สง่างามเข้มแข็งและจริงจังเหมาะสมกับสภาพงานที่กระทำย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพของบุคคลนั้นว่ามีบุคลิกภาพที่น่าศรัทธายกย่อง
ภาพที่ 2.7 บุคลิกภาพที่ดี ทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน
(ที่มา: http://www.manager.co.th) 
การดูแลและพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายกว่าการพัฒนาบุคลิกภาพภายในใช้เวลาไม่มากนักก็สามารถเห็นผลได้ หากผู้ปฏิบัติมีความตั้งใจจริง ดังนั้น เราจึงควรสำรวจบุคลิกภาพภายนอกของเราโดยเริ่มจากอวัยวะที่สามารถปรับปรุงได้ง่าย ดังนี้

1. รูปร่าง                                                                       
2. ใบหน้า                                                         
3. เส้นผม                                                         
4. ตา                                                                
5. คิ้ว                                        
6. หู                                         
7. จมูก  
8. ริมฝีปาก        
9. ฟัน   
10. อก  
11. เล็บมือและเท้า                      
12. ผิวพรรณ
13. ขา  
14. เท้า
1. การดูแลรักษารูปร่าง
            รูปร่าง (Appearance) ทรวดทรงสรีระ หมายถึง ลักษณะร่างกายทรวดทรง สัดส่วนของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เช่น นายแบบที่มีรูปร่างสูงโปร่งมักประสบความสำเร็จในอาชีพ และโดยลักษณะรูปร่างของแต่ละเผ่าพันธุ์อาจแตกต่างกันออกไป เช่น ชาวยุโรปจะมีรูปร่างที่สูงใหญ่กว่าชาวเอเชีย     เป็นต้น รูปร่างของบุคคลเป็นที่สิ่งที่สามารถพัฒนาได้ โดยเฉพาะบุคคลที่มีรูปร่างอ้วน หรืออ้วนเนื่องจากอายุที่มากขึ้น นอกจากจะทำให้ดูเป็นคนไม่คล่องแคล่วแล้วยังจะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ อีกด้วย
            จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักจะหาวิธีการเพื่อจะลดน้ำหนักให้อยู่ในสัดส่วนที่พอดี คำว่าสัดส่วนที่พอดี หมายถึงน้ำหนักกับส่วนสูงอยู่ในอัตราที่พอเหมาะ มีการประเมินน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูงว่าน้ำหนักเท่าใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งนิยมใช้กับผู้ใหญ่อายุเกิน 20 ปี โดยอัตราส่วนที่พอเหมาะของเพศชาย จะนำ 100 ลบออกจากส่วนสูง ส่วนเพศหญิงจะนำ 105 (มาตรฐานสากล) ลบออกจากส่วนสูง ก็จะได้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ส่วนสูง (เซนติเมตร)
น้ำหนักชาย (กิโลกรัม)
น้ำหนักหญิง (กิโลกรัม)
150
150 - 100 = 50
150 - 105 = 45
155
155 - 100 = 55
155 - 105 = 50
160
160 - 100 = 60
160 - 105 = 55
165
165 - 100 = 65
165 - 105 = 60
170
170 - 100 = 70
170 - 105 = 65
175
175 - 100 = 75
175 - 105 = 70
180
180 - 100 = 80
180 - 105 = 75
 ตารางที่ 2.1 แสดงวิธีการคำนวณ
ส่วนสูงและน้ำหนักตามมาตรฐานสากล ของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
โรคอ้วนเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบมากที่สุดคืออุปนิสัยการบริโภค ซึ่งอาจต้องการบริโภคเพราะความต้องการของร่างกาย หรือมีสาเหตุมาจากความเครียด เมื่ออ้วนมักจะทำให้เจ้าของรูปร่างรู้สึกอึดอัด และแต่งกายให้สวยงามได้ลำบาก จึงมักหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อขจัดความอ้วนหรือส่วนเกินเหล่านั้นให้หมดไป วิธีการลดความอ้วนที่กระทำได้ มีดังนี้

1.1 การควบคุมอาหาร เป็นวิธีการลดน้ำหนักที่ดีและปลอดภัยที่สุด เห็นผลได้เร็วและชัดเจน      ผู้ลดน้ำหนักจะต้องควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย จะต้องบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ๆ เช่น ผักสีเขียว ผักสีม่วง ผลไม้ งดอาหารหวาน แป้ง น้ำตาลหรืออาหารที่มีปริมาณไขมันสูง ควรรับประทานอาหารด้วยวิธีการปิ้ง นึ่ง ย่าง แทนการทอด และที่สำคัญจะต้องออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย
ภาพที่ 2.8 อาหารที่ผู้ลดน้ำหนักควรรับประทาน
(ที่มา: www.blogspot.com) 

1.2 การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อแล้วยังจะช่วยเผาผลาญแคลอรีส่วนเกิน ให้มีความสดชื่น กระฉับกระเฉง ช่วยลดไขมันส่วนเกิน ทำให้รูปร่างดีขึ้นการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพ คือการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ดังนี้
1.2.1 วิธีการออกกำลังกาย สามารถทำได้หลายวิธีที่แตกต่างกัน เช่น การเดินเร็ว ๆ การวิ่งเหยาะ ๆ การเต้น แกว่งแขน ยกขา อยู่กับที่ในบ้าน ในสนามหน้าบ้าน การรำมวยจีนไทเก็ก การใช้ไม้พลองประกอบการทำโยคะ การเต้นแอโรบิคที่ถูกต้อง และที่สำคัญมาก ๆ คือจะต้องดูว่า อายุสุขภาพเหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหน วิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น นายแพทย์พิชัย       ดิฐสถาพร จากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ จังหวัดสระบุรี ได้กล่าวให้ความรู้ว่า จะต้องให้กล้ามเนื้อหลัก ๆ หรือกล้ามเนื้อชุดใหญ่ได้เคลื่อนไหวหรือที่เรามักจะพูดกันว่า ให้กล้ามเนื้อหลัก ๆ ได้ทำงาน เช่น กล้ามเนื้อที่ แขน ขา ท้อง คอ รวมทั้งปอดและหัวใจ
ภาพที่ 2.9 การออกกำลังที่เหมาะสม เป็นวิธีการดูแลรักษารูปร่างที่สามารถทำได้ง่ายและเห็นผล
(ที่มา: http://www.pstip.com)

    1.2.2 เวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกายซึ่งอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล เช่น   ตอนเช้าอากาศค่อนข้างดี มีมลภาวะน้อย เหมาะกับการออกกำลังกาย ตอนเย็นหลังจากเลิกงาน ช่วงเวลา     16.00-18.00 น. ก็เหมาะสม ไม่ต้องกังวลเรื่องไปทำงาน และเป็นช่วงที่ระบบกล้ามเนื้อที่ได้เคลื่อนไหวมาในตอนกลางวันแล้ว ทำให้การยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อดีขึ้นที่จะออกกำลังกายในตอนเย็น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับเวลาที่เหมาะสมของแต่ละคนที่จะต้องพิจารณาตัวเอง ว่าควรจะออกกำลังกายเวลาไหนที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง คงไม่มีกฎตายตัวสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน  แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือร่างกายของคนเราต้องมีการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายมีสุขภาพดีระยะเวลาในการออกกำลังกาย โดยทั่วไปทางการแพทย์แนะนำให้ ออกกำลังกายนานประมาณ 10-30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3 วัน หรือ วันเว้นวัน หรือ ออกกำลังกาย 10 นาที แล้วรู้สึกเหนื่อยก็ให้หยุดพักก่อน แล้วจึงออกกำลังกายต่ออีก จนครบเวลา 30 นาที
1.3 การรับประทานยาลดความอ้วน ผลข้างเคียงของยาลดความอ้วน คือยาจะเข้าไปมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางที่ควบคุมความหิว หรือความอยากอาหารเมื่อถึงเวลา และกระตุ้นให้ร่างกายกระฉับกระเฉงขึ้น เมื่อไม่ได้รับสารอาหารทำให้ร่างกายต้องนำไขมันที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อมาใช้ ร่างกายจึงซูบผอม กล้ามเนื้อเล็กลง เมื่อร่างกายผอมลง น้ำหนักก็จะลดลงทันที การรับประทานยาลดความอ้วน มีผลข้างเคียงคือทำให้นอนไม่หลับ มึนงง อ่อนเพลีย ปากแห้ง ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อเลิกใช้ยาอาจทำให้กลับมากินอาหารมากขึ้นกว่าเดิม น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องลดความอ้วนด้วยวิธีนี้ ควรให้อยู่ในความดูแลของแพทย์เสมอ
ภาพที่ 2.10 การรับประทานยาลดความอ้วน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เสมอ
(ที่มา: http://women.thaiza.com)

2. การดูแลรักษาใบหน้า
ใบหน้า (Face) เค้าหน้า ดวงหน้า รูปลักษณะของหน้า รูปหน้าเป็นเค้าโครงซึ่งมีส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ตา หู จมูก คิ้ว ปาก ฟัน ผม ผิวหน้า อยู่ด้วย คนที่เกิดมาหน้าตาหล่อ สวย จัดว่าโชคดี ยิ่งหากได้รูปร่างที่ดีมาประกอบด้วยแล้ว นับว่าเป็นสิ่งที่โชคดีอีกเท่าตัว
2.1 ลักษณะของใบหน้า โดยทั่วไปลักษณะใบหน้าของคนจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ใบหน้ากลม ใบหน้าเหลี่ยม ใบหน้ายาว และใบหน้ารูปไข่ ซึ่งจัดว่าเป็นรูปหน้าที่สวยที่สุด ผู้ที่มีลักษณะของใบหน้าต่าง ๆ สามารถแก้ไขลักษณะบนใบหน้าด้วยการแต่งหน้า ได้ดังนี้
2.1.1 ใบหน้ากลม จะมีแก้มที่เต็มและอูมมาก คางมักสั้นส่วนซึ่งต้องแก้ไขคือข้างแก้มทั้งหมดเพื่อทำให้ใบหน้าดูแคบลง ผู้ที่มีใบหน้ากลมเมื่อต้องแต่งหน้าหลังจากที่รองพื้นและซับแป้งจนทั่วใบหน้าแล้ว สามารถเสริมบุคลิกให้ดีขึ้นด้วยการปัดแก้มบริเวณช่วงแก้มให้เป็นรูปสามเหลี่ยมฐานด้านหนึ่งของสามเหลี่ยมขนานกับแนวหู และมุมแหลมด้านตรงกันข้ามกับฐานชี้ไปยังจมูก โดยระวังอย่าปัดให้ใกล้เข้ามาในช่วงกลางของหน้ามากเกินไป
2.1.2 ใบหน้าเหลี่ยม ใบหน้ารูปนี้ขากรรไกรซึ่งเป็นเหลี่ยมนั้น มักมีส่วนกว้างพอ ๆ กับหน้าผาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหน้าผากด้านข้างกางออกไปพอ ๆ กับขากรรไกร การแต่งหน้ารูปหน้าลักษณะนี้ ต้องพยายามลบความกว้างของหน้าผาก ข้างแก้ม และขากรรไกร โครงสร้างของหน้าซึ่งกว้างอยู่แล้วนั้นจำเป็นต้องแต่งหน้าเล่นสีให้หน้าดูแคบเข้ามา สามารถเสริมบุคลิกทางด้านหน้าตาให้ดูดีขึ้นด้วยการปัดแก้มเป็นรูปสามเหลี่ยมเช่นเดียวกับผู้ที่มีใบหน้ากลม แต่จะให้ฐานของสามเหลี่ยมอยู่ในแนวระนาบที่บริเวณด้านล่างของแก้มและมุมแหลมด้านตรงกันข้ามฐานชี้ออกไปทางขมับ
2.1.3 ใบหน้ายาว ใบหน้าประเภทนี้มีลักษณะแคบและยาว การแต่งหน้าจึงมุ่งหมายไปทางการแต่งเพื่อช่วยให้ใบหน้าดูกว้างขึ้นและสั้นลง การเสริมบุคลิกของคนที่มีรูปหน้ายาว จะปัดช่วงแก้มเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน เอียงขึ้นไปตามแนวกระดูกโหนกแก้มจนจรดถึงไรผมบริเวณหู ด้านหนึ่งของรูปสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นด้านที่อยู่ช่วงในของใบหน้าต้องไม่เกินตาดำเข้ามา
2.1.4 ใบหน้ารูปไข่ ถือเป็นรูปหน้าที่สมบูรณ์แบบที่สุด กล่าวคือ หน้าผากกว้างกำลังดี  วงหน้าจากหน้าผากตรงลงมาจะเล็กลงเป็นลำดับจนถึงคางซึ่งไม่แหลม ไม่ปาดแต่มนกำลังดี การแต่งหน้าสำหรับรูปหน้านี้จึงทำได้ไม่ยาก ถ้าต้องการเน้นจุดเด่นส่วนหนึ่งส่วนใดบนใบหน้าก็ย่อมทำได้
ภาพที่ 2.11 การล้างหน้าให้สะอาดเป็นขั้นตอนแรกในการดูแลใบหน้า
(ที่มา: http://pimlapaspf.blogspot.com)

2.2 การดูแลผิวหน้าประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีใบหน้าในลักษณะใดก็ตาม จะต้องดูแลรักษาความสะอาดบนใบหน้าให้ปราศจากสิว ฝ้า กระ หรือรอยด่างดำ เพื่อให้ใบหน้าดูสวยและนวลเนียน ดังนั้น จึงควรดูแลผิวหน้าประจำวัน ดังนี้
2.2.1 เช็ดล้างเครื่องสำอางออกจากผิวหน้าโดยเฉพาะผู้ที่แต่งหน้า การทำความสะอาดเครื่องสำอางออกจากผิวหน้าด้วยการล้างออกด้วยน้ำเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าประเภทCleansingหรือRemoverเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนการล้างหน้าทุกครั้งซึ่ง Cleansing หรือ Remover จะช่วยขจัดสิ่งสกปรกและสารที่ตกค้างและอุดตันสะสมในผิวออกได้อย่างหมดจดหลังจากนั้นก็ล้างหน้าออกด้วยน้ำสะอาดและ Cleansing ก็จะทำให้ผิวหน้าสะอาดสดใส
2.2.2 ทำความสะอาดผิวด้วยโทนเนอร์ หลังจากที่ได้ล้างหน้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรที่จะใช้สำลีชุบโทนเนอร์เช็ดผิวให้ทั่วทั้งใบหน้า วิธีการเช็ดหน้าที่ถูกต้องคือ การเช็ดขึ้นจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบนเพื่อเป็นช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นเข้าสู่รูขุมขนและช่วยทำความสะอาดรูขุมขนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2.2.3 ทาครีมบำรุงผิวหน้ากลางวันหรือกลางคืน หลังจากที่เช็ดหน้าผิวหน้าด้วยโทนเนอร์เสร็จเรียบร้อยแล้วควรนวดหน้า ซึ่งการนวดหน้าจะช่วยกระตุ้นการดูดซึมของเนื้อครีมที่ทาเข้าสู่ผิวหน้าได้ดีมากขึ้น
2.2.4 การใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 PA+++ ขึ้นไปในตอนเช้าหลังจากที่ทาครีมบำรุงผิวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวหน้าจากอันตรายของแสงยูวี โดยผลการวิจัย             ทางการแพทย์ได้ค้นพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องเผชิญกับแสงยูวีที่เป็นอันตราย    ต่อผิวมาก และความรุนแรงของแสงจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50-70 ของแสงทั้งหมด การหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนัง ผิวหนังไหม้และการเกิดจุดด่างดำจากเม็ดสีผิวได้
3. การดูแลรักษาเส้นผม
ปัจจุบันคนเราเริ่มเป็นห่วงเป็นใยและสนใจเรื่องราวกับเส้นผมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องผมร่วง ผมหงอก ผมแห้ง ผมแตกปลาย ผมไร้น้ำหนัก ขาดความเงางามและไม่อยู่ทรง การที่คนเราจะมีเส้นผมที่แข็งแรง มีสีผมที่แตกต่างกัน ผมหนา ผมบาง ขึ้นกับเชื้อชาติ และพันธุกรรม
3.1 วงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม
เส้นผมของคนเราโดยปกติเจริญเติบโตได้วันละ 0.3 มิลลิเมตร ดังนั้นภายใน 1 เดือน ผมจะยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร โดยเส้นผมแต่ละเส้นจะยืดยาวได้ 2 ปี คือ ยาวประมาณ 36 นิ้ว หลังจากนั้นเซลล์รากผมก็จะหยุดเจริญเติบโต เส้นผมจะร่วง และเซลล์รากผมก็จะสร้างเส้นผมขึ้นใหม่ เส้นผมบนหนังศีรษะร้อยละ 10-15 เป็นเส้นผมที่หยุดเจริญเติบโตและพร้อมที่จะร่วง เส้นผมบนหนังศีรษะมีประมาณ 120,000 เส้น และเส้นผมที่ร่วงวันละ 50-100 เส้นถือว่าปกติ แต่ถ้าเส้นผมค่อย ๆ บางลงแล้วผมยังคงร่วงจำนวนเท่าเดิมก็ถือว่าผิดปกติ

ภาพที่ 2.12 การสระผมเป็นขั้นตอนแรกของการดูแลรักษาเส้นผม

(ที่มา: http://www.womenshealththailand.com)
3.2 วิธีดูแลเส้นผมให้สะอาดสุขภาพดี
การดูแลผมให้มีสุขภาพดีก็เหมือนกับผิวพรรณทั่ว ๆ ไปคือจะต้องให้ความสำคัญกับการ        ทำความสะอาดเป็นอันดับแรก คนปกติควรสระผม สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยใช้แชมพูอ่อนสระผม     บ่อย ๆ แชมพูอ่อนมีข้อดีตรงที่ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ไม่แพ้ง่าย จึงเหมาะสำหรับเด็กและบุคคลทั่วไปที่ไม่มีปัญหาเรื่องหนังศีรษะ
3.2.1 การดูแลผมมัน สำหรับคนที่มีผมมัน คนที่ชอบเล่นกีฬา หรืออยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ต้องผจญกับฝุ่นละออง สารเคมี การฟอกสี เส้นผมลักษณะนี้มักจะสกปรกง่าย ถ้าเป็นไปได้ควรจะ สระผมทุกวัน และหากรู้สึกว่าผมแห้งกรอบจากการสระผม อาจใช้ครีมนวดผมชโลมสักเล็กน้อย เนื่องจากโดยปกติเส้นผมมักจะมันเป็นธรรมชาติ เนื่องจากต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากเกินไป ซึ่งการสระผม การใช้โลชั่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของการรับประทานอาหาร การนวดผม ทั้งหมด   ไม่มีผลในการลดการผลิตไขมันแต่อย่างใด สรุปได้ว่าคงจะต้องหาทางออกคือการสระผมบ่อย ๆ
3.2.2 การดูแลผมที่เป็นรังแค สำหรับคนที่มีปัญหาเส้นผมที่เป็นรังแค อาจต้องใช้แชมพูป้องกันรังแคที่มีส่วนผสมของซิงก์ไพริไทออนคีโตโคนาโซล เซเลเนียมซัลไฟด์ ไพรอคโทนโอลามีน ซัลเฟอร์รีซอร์ซินอล หรือกรดซาลิไซลิก ซึ่งรังแคมักมีสาเหตุจากเชื้อราชนิดหนึ่ง คือ “Pityrosporum Ovale” อาศัยอยู่บนหนังศีรษะและมักมีจำนวนมากขึ้นในคนเหล่านั้น วิธีการรักษาอาจต้องสระผม     โดยทิ้งแชมพูไว้บนศีรษะประมาณ 3-5 นาที เสร็จแล้วจึงล้างออก ความถี่ห่างของการใช้ขึ้นอยู่กับกับความรุนแรงของรังแคที่เป็น สามารถสระผมได้ทุกวัน ขณะเดียวกันคงต้องหาสาเหตุและปัจจัยอื่น ซึ่งส่งเสริมให้เป็นรังแค มากขึ้น เช่น ความเครียด การใช้น้ำมันใส่ผม ถ้าอาการดีขึ้นอาจจะลดระยะเวลาสระผมลงเหลือแค่วันเว้นวัน
3.3 การเลือกใช้แชมพู แชมพูประกอบด้วยสารชำระล้าง (detergent) ซึ่งมีส่วนที่เป็นสารลดความตึงผิวของน้ำและส่วนขจัดความกระด้าง นอกจากนั้นจะมีไขมันบางชนิด สี น้ำหอม วิตามิน สารที่ทำให้เกิดฟอง  สารกันเสีย สารขจัดรังแค ซึ่งแต่ละบริษัทที่ผลิตแชมพูออกมาจำหน่าย อาจมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันบ้าง ขึ้นกับความพอใจและวัตถุประสงค์ของบริษัท การเลือกใช้แชมพูให้เหมาะสมกับตัวเอง เป็นวิธีการที่ช่วยดูแลรักษาเส้นผม ทำให้เส้นผมสะอาด สดใส สบายหนังศีรษะและไม่ก่อให้เกิดอาการคัน ดังนั้น ควรเลือกใช้แชมพูให้เหมาะสมกับลักษณะเส้นผมของตนเอง ดังนี้
3.3.1 แชมพูสำหรับผมแห้ง ผมที่ต้องเป่า หรือดัดบ่อย ๆ ควรมีส่วนผสมของ Surfactant (สารที่ชำระล้างทำความสะอาด เอาความมันออกจากเส้นผม) หลายชนิด เช่น โปรตีนเพื่อบำรุงเส้นผม หลังสระอาจต้องใช้ครีมนวดเพื่อป้องกันเส้นผมพันกัน
3.3.2 แชมพูสำหรับผมมัน ควรมีส่วนผสมของ Aikylsulphate ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Anionic Surfactant (สารที่ละลายน้ำแล้วได้ประจุลบ) ซึ่งมีคุณสมบัติในการชำระล้างสิ่งสกปรกได้ดี
3.3.3 แชมพูสำหรับผมแห้ง แพ้ง่าย และผมเด็ก ควรใช้แชมพูสำหรับเด็ก เพราะไม่มีสารระคายเคืองผิวและเยื่อบุตา
3.3.4 แชมพูขจัดรังแค มีส่วนผสมของซิงก์ไพริไทออนคีโตโคนาโซล เซเลเนียมซัลไฟด์ ไพรอคโทนโอลามีน ซัลเฟอร์รีซอร์ซินอล หรือกรดซาลิไซลิก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดรังแค
4. การดูแลรักษาตา
            ตาเป็นอวัยวะที่ควรจะต้องถนอมไว้ เพราะนอกจากจะทำให้มองเห็นโลกภายนอกแล้ว คนที่มีตาที่เป็นประกาย สดใส ยังจะช่วยเสริมให้บุคคลนั้นมีใบหน้าที่งดงามดูดีไปด้วย บุคคลจะต้องระวังรักษานัยน์ตาเพื่อให้สามารถใช้งานได้นานถึงแม้ว่าอายุจะมากแล้วก็ตาม โดยปกติส่วนประกอบของตาจะมีระบบป้องกันภัยในตัวเองอยู่แล้ว คือจะมีเปลือกตาและขนตาทำหน้าที่ป้องกันเศษฝุ่นละอองไม่ให้เข้าตาได้ง่าย แต่หากฝุ่นละอองเข้าไปแล้วน้ำตาก็จะไหลออกมาเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกนั้นออกไป อย่างไรก็ดีเมื่อต้องสัมผัสกับดวงตาจะต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อน หรือหากต้องทำความสะอาดด้วยผ้าหรือน้ำ ผ้าหรือน้ำนั้นก็จะต้องสะอาดด้วย และหากมีอาการระคายเคียงควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ดังนั้น เพื่อสุขภาพตาที่ดีสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
4.1 พบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจตาอย่างละเอียด หากคิดว่าสายตาเป็นปกติไม่มีปัญหาเรื่องการมองเห็นอาจไม่จำเป็นต้องพบจักษุแพทย์ แต่การไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดก็จะช่วยทำให้แน่ใจได้ว่าไม่มีปัญหาจริง ๆ เนื่องจากโรคตาบางชนิด เช่น ต้อหิน วุ้นในตาเสื่อม อาจจะเกิดขึ้น โดยที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า แต่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ ในบางครั้งแพทย์จะทำการขยายม่านตา โดยให้ยาหยอดตา ทำให้สามารถตรวจได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
4.2 โรคตาที่มีในครอบครัว หากคนในครอบครัวมีโรคตา เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้ด้วยว่าใครเป็นโรคตาอะไร เนื่องจากโรคตาบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากมีประวัติในครอบครัวก็อาจจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพื่อทำการตรวจทำการป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป
4.3 เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา อาจจะเคยได้ยินว่าการรับประทาน     แครอทจะมีประโยชน์ แต่นอกเหนือไปจากแครอท การรับประทานผลไม้และผักใบเขียว ก็สามารถช่วยทำให้ตามีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การรับประทานอาหารที่มี Omega-3 สูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ก็จะสามารถช่วยบำรุงสายตาได้เช่นกัน
4.4 การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดปกติของดวงตาได้ เช่นโรคตาจากเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้ดีก็เป็นประโยชน์ต่อดวงตาเช่นกัน
4.5 การสวมแว่นเพื่อป้องกันดวงตา โดยเฉพาะเวลาที่เล่นกีฬาหรือมีกิจกรรมที่อาจจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุต่อดวงตา เช่น การเล่นกีฬาบางอย่าง การทำงานเฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่แว่นประเภทนี้จะทำมาจาก polycarbonate ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าพลาสติกประมาณ 10 เท่า
 4.6 งดสูบบุหรี่ นอกจากบุหรี่จะเป็นอันตรายต่อหัวใจ เส้นเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งแล้ว บุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรควุ้นในตาเสื่อม ต้อกระจก และการทำลายเส้นประสาทตาอีกด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดตาบอดได้
4.7 ใช้แว่นกันแดด เพื่อเป็นการป้องกันรังสี UV เวลาเลือกซื้อพยายามเลือกที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UV-A และ UV-B ได้ 99-100%
4.8 การพักสายตา ถ้าใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ หรือใช้สายตาเพ่งมากเกินไป บางครั้ง การกระพริบตาจะน้อยลงโดยที่ไม่รู้ตัว และทำให้กล้ามเนื้อตาล้า และตาแห้งได้ พยายามใช้กฎ 20-20-20  คือ ทุก 20 นาที มองไปไกล 20 ฟุต ประมาณ 20 วินาที เพื่อเป็นการพักสายตา และป้องกันสายตาล้า ปวดตาได้
4.9 ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ หากต้องใช้คอนแทคส์ควรเรียนรู้และฝึกฝนที่จะใช้ให้ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
4.10 ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในที่ทำงาน หากต้องทำงานที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่อดวงตาต้องใส่แว่นทุกครั้งอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง
            สิ่งที่จะสร้างความสวยงามและเสริมสร้างเสน่ห์ให้แก่ดวงตา คือการตกแต่งด้วยอายแชโดว์ด้วยเฉดสีต่าง ๆ และต้องมีเทคนิคการทาอายแชโดว์ที่เหมาะสมกับลักษณะของดวงตา
ภาพที่ 2.13 ตกแต่งด้วยอายแชโดว์เพื่อเพิ่มความสวยงามแก่ดวงตา
(ที่มา: http://www.chicministry.com)

5. การดูแลรักษาคิ้ว
คิ้วเป็นส่วนประกอบหนึ่งของใบหน้าที่มีประโยชน์ทั้งในด้านการป้องกันเหงื่อไม่ให้เข้าตา ป้องกันผง ป้องกันฝุ่นละออง ไม่ให้เข้าไปทำลายลูกนัยน์ตา และยังเป็นส่วนที่ทำให้ใบหน้ามีความคมเข้มขึ้น ยิ่งถ้าหากว่าคิ้วนั้นมีความสมดุลกับตา ก็จะยิ่งเพิ่มความสวยงามให้แก่เจ้าของใบหน้านั้นอีกด้วย รูปคิ้วของคนมีลักษณะต่างกัน เช่น คิ้วบาง คิ้วดก คิ้วสั้น คิ้วโก่ง ฯลฯ ซึ่งหากรูปคิ้วไม่เข้ากับหน้าหรือตา ก็จะสามารถเสริมแต่งให้เข้ากันและดูสวยงามได้ด้วยหลายวิธี ได้แก่
5.1 วิธีการถอน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบ และเข้ากับใบหน้าให้มากที่สุด แต่การถอนควรทำให้น้อยที่สุด และมีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้คิ้วดูสะอาด และสวยงามเหมาะสมกับหน้าตาเท่านั้น
5.2 วิธีสักคิ้วหรือเพ้นท์คิ้ว 3 มิติ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
5.3 วิธีการเขียนคิ้ว ซึ่งเป็นวิธีการที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถทำได้ง่าย ดังนี้
5.3.1 การเตรียมพร้อม
(1) ใช้เครื่องมือถอนขนคิ้วพร้อมกระจกบานใหญ่ มีคีมคีบ และอยู่ในที่ที่มีแสงสว่าง
(2) ก่อนดึงขนคิ้ว ควรเปิดรูขุมขนก่อนโดยการล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น และควรดึงหนังตาให้ตึงก่อนถอน ล้างเครื่องสำอางออกจากบริเวณรอบดวงตาให้หมดเสียก่อน โดยใช้โทนเนอร์ซับอีกครั้งเพื่อช่วยให้ผิวไม่ระคายเคือง ใช้ดินสอสีขาวทำเครื่องหมายบริเวณที่จะถอน จากนั้นใช้ถุงน้ำเย็น ๆ ประคบ 2-3 นาที
5.3.2 ก่อนแต่งคิ้ว
(1) ใช้พู่กันหรือดินสอวางตั้งฉากระหว่างปีกจมูกและหัวคิ้ว จนกระทั่งถึงมุมตาด้านใน ให้ปลายดินสออยู่ตรงหัวคิ้ว
(2) หมุนดินสอจากปีกจมูกไปที่กึ่งกลางลูกตาดำ ดูว่าปลายดินสอไปหยุดอยู่ที่ใด ตรงนั้นคือจุดสูงสุดของคิ้ว
(3) วาดดินสอเป็นเส้นทแยงมุมออกไปที่มุมด้านนอก ตรงนี้คือเส้นคิ้วที่เรียงเล็กลง
(4) ทดสอบโดยการเมกอัพหรือแตะแป้งเพื่อดูว่าควรถอนขนคิ้วส่วนใดออก
(5) ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้ยึดหนังคิ้วไว้แล้วใช้แหนบถอนขนคิ้วที่ขึ้นระเกะระกะออก
6. การดูแลรักษาหู
            หูเป็นอวัยวะที่ใช้ในการฟังเสียง ประกอบด้วย ใบหู ประสาทหู แก้วหู ฯลฯ นอกจากนี้แล้วลักษณะของใบหูที่สวยงามยังช่วยเสริมใบหน้าให้สวยงามตามไปด้วย ใบหูที่จัดว่าสวยงามคือใบหูที่ไม่หนาหรือไม่บางเกินไป ไม่กาง มีติ่งหูพองาม ซึ่งตรงกันข้ามกับใบหูที่หนาเกินไป กางเกินไป สั้นหรือเล็กเกินไป หูลีบ หูกาง ไม่มีติ่งหู เหล่านี้จัดว่าเป็นใบหูที่ไม่สวยทั้งสิ้นปัจจุบันพ่อแม่ที่พบว่าลูกมีใบหูที่ไม่สวยงามมักจะพาไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดแก้ไขข้อบกพร่องซึ่งควรจะพาลูกไปผ่าตัดก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ประมาณ 5-6 ขวบ) เด็กที่หูกางแพทย์จะตัดหนังบริเวณรอบพับที่ติดกับหนังศีรษะออกทิ้งไปบางส่วน แล้วตัดหรือแกะสลักเย็บกระดูกอ่อนของใบหูให้ม้วนเข้าหาพังผืดของศีรษะ แล้วเย็บโดยให้รอยเย็บอยู่ด้านหลังของใบหูนั้น ๆ จะช่วยให้หูที่กางหุบเข้าหาศีรษะ สำหรับเด็กที่หูตูบ หรือหูหงิกงอเข้าหาศีรษะก็สามารถผ่าตัดคลี่ใบหูออกให้ใกล้เคียงกับหูของคนปกติได้
            บุคคลที่มีใบหูปกติไม่ต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไขใด ๆ ควรที่จะรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของหู เพื่อการฟังเสียงที่มีประสิทธิภาพ นายแพทย์พิสิฏฐ์ สุอาชาวรัตน์ แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก   อาร์เอสยู เฮลท์แคร์ คลินิก มหาวิทยาลัยรังสิต แนะนำวิธีการรักษาสุขภาพของหูอย่างถูกต้อง ดังนี้
6.1 ดูแลทำความสะอาด โดยเช็ดใบหู รูหู ห้ามแคะหู และห้ามปั่นในรูหูเด็ดขาด
6.2 ถ้ามีน้ำเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลง และทำความสะอาดด้วยไม้ปั่นหู เพื่อซับน้ำให้แห้ง
6.3 ธรรมชาติของมนุษย์ ร่างกายคนเราจะผลิตขี้หูออกมาตามความเหมาะสม อาจจะเปียกหรือแห้งต่างกันไป ในกรณีที่มีขี้หูเปียกมากควรเช็ดทำความสะอาดด้วยไม้ปั่นหูที่มีขนาดเล็กกว่ารูหู เช็ดหรือปั่นเบา ๆ เพื่อเอาขี้หูออกสัปดาห์ละครั้ง ส่วนในกรณีที่ขี้หูแห้งและแข็ง ควรหยอดด้วยน้ำมันมะกอก ครั้งละ 1-2 หยด หยอดบ่อย ๆ ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นค่อยทำความสะอาด ไม่ควรแคะหูด้วยที่แคะหูหรือกิ๊บเสียบผม เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุ ผนังรูหูเป็นแผลและอักเสบติดเชื้อโรคได้
ภาพที่ 2.15 การดูแลความสะอาดใบหูด้วยคอตตอนบัด
(ที่มา: http://www.somjaishopping.com)

6.4 ถ้าแมลงเข้าหู ให้ใช้น้ำมันมะกอกหยอดให้เต็มรูหู ทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้แมลงตาย จึงค่อยเขี่ยเอาแมลงออก ถ้ายังไม่สามารถเขี่ยแมลงออกได้ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที
6.5 กรณีเป็นหวัด คัดจมูกมาก ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะจะทำให้เชื้อโรคถูกดันให้เข้าไปในท่อยูสเตเชี่ยน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อบริเวณหูชั้นกลาง และลุกลามจนกลายเป็นโรคหูน้ำหนวกได้

6.6 ควรหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหรือการกระทบกระแทกแรง ๆ ที่กกหู เพราะอาจทำให้แก้วหูฉีกขาด เลือดคั่งในหูชั้นกลาง กระดูกหูอาจเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม ทำให้ความสามารถในการ   ได้ยินลดลง
6.7 ควรหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีเสียงดังอึกทึก เช่น เครื่องจักรในโรงงาน เสียงดนตรีในสถานบันเทิง ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใส่ที่ครอบหูหรือที่อุดหู และติดตามตรวจการได้ยินทุกปี
6.8 ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของหู และการได้ยินอยู่เสมอ เช่น หูอื้อ ปวดหู คันหู มี  น้ำหนองหรือเลือดไหลออกจากหู การได้ยินเสียงลดลงควรรับการตรวจจากแพทย์อย่างใกล้ชิด 
7. การดูแลรักษาจมูก
จมูกเป็นอวัยวะที่มีไว้สำหรับการหายใจแต่ละเผ่าพันธุ์จะมีจมูกที่แตกต่างกันหรือแม้แต่บางทีเผ่าพันธุ์เดียวกันยังมีลักษณะจมูกที่แตกต่างกัน บ้างจมูกโด่ง บ้างจมูกแฟบ บ้างจมูกหนา บ้างจมูกกลมคล้ายลูกชมพู่ผ่าซีก ฯลฯ แต่สำหรับปัจจุบันมนุษย์สามารถแก้ไขจมูกให้เป็นไปตามแบบที่ต้องการด้วยการทำศัลยกรรม เช่น หากจมูกแฟบแบนก็สามารถเสริมให้โด่งขึ้น หรือคนที่จมูกใหญ่ก็สามารถผ่าตัดให้เล็กลง อย่างไรก็ดีการทำศัลยกรรมบางครั้งก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น การฉีดพาราฟีน หรือซิลิโคนชนิดเหลวเข้าไปบ่อยครั้งก็จะเป็นการเสี่ยงอันตรายต่อสารเหลวเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ อุดตันสมองหรือบางครั้งสารเหลวนั้นอาจไหลลงมาข้างจมูกหรือส่วนที่ ต่ำกว่าจมูกทำให้ใบหน้าผิดรูปทรง ดังนั้น เพื่อให้จมูกทำหน้าที่ได้ตามปกติ และปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ เราควรปฏิบัติดังนี้
7.1 รักษาจมูกให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ที่ ๆ มีฝุ่นละอองมาก ๆ
7.2 ไม่เข้าไปในบริเวณที่มีกลิ่นฉุน เหม็น หรือใส่น้ำหอมกลิ่นรุนแรง เพราะทำให้ประสาท
รับกลิ่นเสื่อมลง
7.3 ไม่ใช้นิ้วหรือของอื่น ๆ เช่นปากกา ดินสอ กระดาษ แหย่จมูกเล่น เพราะอาจทำให้จมูกอักเสบหรือเป็นอันตรายได้
7.4 ไม่ถอนขนจมูกหรือตัดให้สั้น เพราะขนจมูกมีประโยชน์ในการกรองฝุ่นละออง เชื้อโรค
และสิ่งอื่น ๆ ที่อาจปนเข้ามากับลมหายใจ ไม่ให้เข้าสู่ช่องจมูกและปอดได้
7.5 เวลาจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษนุ่ม ๆ ปิดปาก
7.6 เวลาสั่งน้ำมูกให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษนุ่ม ๆ รอไว้ที่จมูกแล้วค่อย ๆ สั่งน้ำมูกโดยสั่งพร้อมกันทั้งสองข้างไม่ควรใช้มือบีบจมูกแล้วจึงสั่งน้ำมูก
7.7 เมื่อต้องการดมกลิ่นของบางอย่าง เพื่อที่จะทราบว่าเป็นอะไร อย่าใช้จมูกจ่อจนใกล้แล้วสูดหายใจ เพราะอาจเป็นอันตรายได้
7.8 เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่จมูก เช่น คัดจมูก เลือดกำเดาไหล ปวดจมูกหรืออื่น ๆ ควรไปให้แพทย์ตรวจรักษา
ภาพที่ 2.16 การศัลยกรรมจมูก เพื่อเพิ่มความสวยงามให้ใบหน้า
(ที่มา: http://www.tong healthy.blogspot.com)
8. การดูแลรักษาริมฝีปาก
            ปากเป็นส่วนประกอบหนึ่งของใบหน้าที่มีส่วนทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน รูปปากที่ยอมรับว่าสวยที่สุดคือ ปากที่มีริมฝีปากไม่หนาหรือบางจนเกินไป มองดูเป็นรูปกระจับ มุมปากทั้งสอง  ชี้ขึ้น ริมฝีปากคล้ายกลีบกุหลาบ มองดูเหมือนมีรอยยิ้มระบายอยู่บนใบหน้าตลอดเวลา ผู้ที่มีปากหนา ปากยื่น ปากกว้าง จัดว่าปากนั้นมีข้อบกพร่อง อาจต้องแก้ไขด้วยการทำศัลยกรรม หรือใช้เทคนิคการเขียนริมฝีปากเพื่อปกปิดความบกพร่องนั้น
ภาพที่ 2.17 ดูแลรักษาริมฝีปากให้ดูชุ่มชื่นอยู่เสมอ
(ที่มา: http://www.wonderful.in.th)

โดยส่วนใหญ่สุภาพสตรีจะให้ความสนใจกับการดูแลรักษาริมฝีปากมากกว่าสุภาพบุรุษ สิ่งที่จะนำมาตกแต่งเพื่อให้ริมฝีปากดูดีขึ้นคือลิปสติก ซึ่งลิปสติกในปัจจุบันมีการคิดค้นส่วนผสมต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะสร้างสีสันให้เจ้าของริมฝีปากแล้วยังมีส่วนผสมต่าง ๆ ที่ช่วยบำรุงริมฝีปากอีกด้วย ดังนั้นวิธีการที่จะช่วยบำรุงรักษาริมฝีปาก ควรปฏิบัติดังนี้

8.1 ผลัดผิวริมฝีปากอย่างอ่อนโยนอากาศแห้งทำให้เรียวปากขาดความชุ่มชื้น เมื่อเผชิญกับอากาศแห้งนาน ๆ ริมฝีปากก็เริ่มแตก วิธีที่จะช่วยได้คือกระตุ้นการผลัดผิวที่ริมฝีปาก ซึ่งจะทำให้ผิวหนังชั้นบนที่แห้งเป็นขุยค่อย ๆ หลุดลอกออกไป พร้อมเผยผิวริมฝีปากที่สุขภาพดีกว่าขึ้นมา และใช้ลิปบาล์มเพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับริมฝีปากที่เพิ่งเผยขึ้นมาใหม่
8.2 ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเติมความสดชื่นให้กับร่างกายรวมทั้งริมฝีปาก เพราะฉะนั้นควรดื่มน้ำอย่างพอเพียงเพื่อริมฝีปากที่อวบอิ่ม
8.3 บำรุงด้วยโอเมก้า 3 และวิตามินเอ ริมฝีปากที่ดูเปล่งปลั่งสุขภาพดีมาจากการได้รับวิตามินและเกลือแร่จำเป็น โอเมก้า 3 และวิตามินเอในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้ริมฝีปากชุ่มชื้นได้ ควรปรึกษาเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานวิตามินเสริม หรือหากได้รับจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ก็จะดีมาก
8.4 เลือกใช้ลิปบาล์มแทนลิปกลอส หลายคนมักสับสนในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับ   ริมฝีปากทั้งสองตัวนี้ ลิปบาล์มถูกผลิตขึ้นมาเพื่อบำรุงให้ความชุ่มชื้น และรักษาอาการริมฝีปากแห้งแตกโดยเฉพาะในขณะที่ลิปกลอสจัดอยู่ในประเภทเครื่องสำอาง และมักทำหน้าที่เคลือบผิวริมฝีปากให้ดูมันวาวเท่านั้น ทั้งนี้ นอกจากลิปบาล์มจะให้ความรู้สึกเนียนนุ่มชุ่มชื่นกว่าเมื่อทาลงไปแล้ว มักถูกเติมด้วยสารบำรุงและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อริมฝีปากมากกว่าอีกด้วย
8.5 ใช้ลิปสติกที่มีคุณสมบัติบำรุงริมฝีปาก หากมีริมฝีปากแห้งแตกอยู่บ่อยครั้ง การทาลิปสติกให้สวยคงเป็นไปไม่ได้อย่างใจ ควรเลือกใช้ลิปสติกที่มีคุณสมบัติบำรุงริมฝีปากแบบเข้มข้น หรือจะลองใช้ลิปบาล์มที่มีสีก็ได้ เท่านี้ริมฝีปากก็จะดูมีสีสัน ทั้งยังดูชุ่มชื้นอิ่มเอิบไปพร้อม ๆ กัน
8.6 กินอาหารอย่างถูกหลัก อาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ในการชี้ว่าจะมีริมฝีปากที่สุขภาพดีได้หรือไม่ เมนูที่มีซัลเฟอร์สูงอย่างไข่ กระเทียม และหน่อไม้ฝรั่ง จะช่วยให้ผิวพรรณรวมทั้งริมฝีปากดูสดชื่น เต่งตึง นอกจากนี้อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน เอ บี และ ซี ซึ่งพบมากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แครอท ผักใบเขียว โยเกิร์ตรสธรรมชาติ จะช่วยให้ริมฝีปากดูมีสุขภาพดีมากขึ้น
8.7 พบแพทย์หากอาการปากแห้งแตกไม่ดีขึ้นไม่ว่าจะบำรุงทั้งจากภายนอกหรือภายในอย่างไร ริมฝีปากก็ยังคงแห้งแตกอยู่เหมือนเดิม ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุรวมทั้งรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาการริมฝีปากแห้งแตกนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเจ็บป่วย อย่างโรคโลหิตจาง หรือ อาการผิดปกติทางผิวหนัง
9. การดูแลรักษาฟัน
            ฟันเป็นอวัยวะสำหรับการเคี้ยวหรือบดอาหาร และนอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อใบหน้า เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นที่กล่าวมาแล้ว คือหากฟันสวย ขาวสะอาด และเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ก็จะช่วยเสริมเสน่ห์สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงต้องดูแลรักษาฟันให้สะอาด ไร้กลิ่นปากอันเกิดจากฝันผุ หรือเหงือกอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยบำรุงรักษาฟัน ควรปฏิบัติ ดังนี้
9.1 ควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ และแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ      2 ครั้ง คือหลังตื่นนอนตอนเช้า และก่อนนอน แปรงสีฟันมีให้เลือกหลายแบบ ยิ่งปัจจุบันผู้ผลิตมีการออกแบบแปรงสีฟันที่เหมาะสมกับปากและฟัน ยิ่งทำให้เราได้มีโอกาสเลือกมากขึ้น ขนของแปรงสีฟันก็มีแบบขนแปรงนิ่ม ขนแปรงแข็งปานกลาง และขนแปรงแข็ง ซึ่งก็เช่นเดียวกันผู้ใช้สามารถเลือกได้ตามความชอบและเหมาะสม การแปรงฟันอย่างถูกวิธีคือการวางแปรงให้ขนานกับฟันปลายขนแปรงอยู่ตรงคอฟัน กดแปรงให้ขยับไปมาเบา ๆ หาเป็นฟันล่างหมุนมือขึ้น และหากเป็นฟันบนให้หมุนมือลง
9.2 กินให้ถูกกาลเทศะ การเคี้ยวอาหารให้เคี้ยวด้วยฟันทั้งสองข้าง เลือกกินอาหารที่มีความแข็งพอควร เช่น ผักสด ผลไม้เนื้อแข็ง เช่น แอปเปิ้ล ชมพู่ มะม่วงดิบ ฝรั่ง ซึ่งความแข็งของผลไม้นี้จะช่วยขจัดคราบในปาก บริหารและขัดฟันไปด้วยในตัว
9.3 พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อจะได้มีโอกาสแก้ไขสิ่งบกพร่องก่อนที่จะสายเกินไป ฟันมีส่วนที่จะทำลายความสวยงามของใบหน้าได้ เช่น หากฟันเก ฟันยื่น ก็จะส่งผลไปถึงคาง และทำให้รูปหน้าผิดสัดส่วนได้ ฟันที่จัดว่าสวยคือฟันที่ไม่เล็กหรือโตจนเกินไปทุกซี่เรียบติดกันขาวและเป็นเงาราวกับไข่มุก
ภาพที่ 2.18 ควรพบแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อดูแลรักษาฟันให้สวยงามอยู่เสมอ
(ที่มา: http://www.thaihealth.or.th)
10. การดูแลรักษาอก
            อกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของรูปร่างโดยเฉพาะสุภาพสตรี จะให้ความสำคัญกับอกมาก เพราะผู้หญิงทุกคนอยากได้ชื่อว่าอกสวย อกจะทรงตัวอยู่ได้ดีจะต้องประกอบด้วย กิริยาท่าทางดี เสื้อยกทรงดี และจะต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดังนี้
10.1 กิริยาท่าทางดี หมายถึงว่าจะต้องทำท่าทีกิริยาให้สวยอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่ายืน หรือท่าเดิน กิริยาท่าทางที่ดีจะต้อง “เชิดคาง ไหล่ตั้ง หลังตึง ท้องติด และคอไม่ตก” บางคนมีปัญหาเรื่องอกใหญ่แล้วทำให้ไหล่ห่อหรือตัวงอ เพื่อปกปิด ซึ่งจัดว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูก ควรหาวิธีแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสม
10.2 เสื้อยกทรงดี คือเสื้อยกทรงที่เหมาะสมกับรูปร่างของเต้านม ซึ่งผู้ผลิตชุดชั้นในบางยี่ห้อได้เปรียบเต้านมของสตรีไทยกับผลไม้ต่าง ๆ เช่น มะนาว แอปเปิ้ล มะละกอ ฯลฯ และได้ผลิตเสื้อยกทรงที่เหมาะสมกับเต้นนมนั้น ๆ นอกจากนี้แล้วขนาดของเสื้อยกทรงก็สำคัญ เสื้อยกทรงที่เลือกใช้จะต้องมีขนาดที่เหมาะกับเต้านมและขนาดของลำตัว เสื้อยกทรงที่ขายอยู่ทั่วไปนอกจากจะเป็นขนาดของหน้าอก เช่น 32 นิ้ว 34 นิ้ว 36 นิ้ว ฯลฯ แล้วยังมีขนาดที่เป็น Cup อีกด้วย โดยจะวัดอ้อมอกจากหลังมาจรดหัวนมว่าได้เท่าไร จากนั้นก็จะวัดขนาดได้อกอ้อมจากหลังมายังฐานนมได้เท่าไร แล้วนำผลมาลบ
กัน หากต่างกัน 4-5 นิ้ว ใช้เสื้อชั้นใน Cup A หากต่างกัน 5-6 นิ้ว ใช้ Cup B หากต่างกันมากกว่า 7 นิ้ว ใช้ Cup C หรือ D เสื้อยกทรงที่เหมาะสมเมื่อสวมแล้วสายต้องไม่สั้นจนรั้งหรือส่วนใต้รอบทรงไม่พอดี
ตารางที่ 2.2 ตารางเทียบขนาดยกทรง
(ที่มา:http://women.mthai.com)
10.3 การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกแข็งแรง ซึ่งจะช่วยให้เต้านมไม่หย่อนคล้อย
11. การดูแลรักษาเล็บมือและเท้า
            เล็บเป็นอวัยวะที่มีส่วนสำคัญในการปกป้องประสาทส่วนปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าที่ไวต่อความรู้สึก เล็บเจริญมาจากเนื้อเยื่อส่วนใต้โคนเล็บและหลังหนังกำพร้า เมื่องอกมาถึงปลายนิ้วจะเป็นเซลล์ตาย แต่ที่สามารถยาวออกมาได้เรื่อย ๆ เพราะเซลล์ที่มีชีวิตดันออกมา เล็บจะถูกรบกวนด้วยโรคต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลทำให้เล็บเสียและไม่สวยงาม โรคต่าง ๆ นั้นได้แก่ โรคราที่เล็บซึ่งจะทำให้เล็บหนา และผุ สีของเล็บก็เปลี่ยนไปด้วย โรคปอดเรื้อรังทำให้เล็บโค้งกว้างมากกว่าปกติและเป็นสีม่วง          โรคโลหิตจางทำให้เล็บผิดรูปไป โรคผิวหนังบางชนิดทำให้เล็บบุบลงเป็นจุด ๆ
            เล็บสวยจะต้องเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ หมายถึงว่าเจ้าของเล็บจะต้องเป็นคนสุขภาพดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง การตัดเล็บมือต้องตัดให้มนเจียนเป็นรูปไข่ ใช้ตะไบไม้ขัดอีกครั้งหนึ่ง เล็บเท้าก็เช่นเดียวกัน อย่าตัดสั้นกว่าปลายนิ้ว และควรตัดตรง ๆ ใช้ตะไบไม้ค่อย ๆ เกลาให้เรียบ ส่วนหนังกำพร้ารอบเล็บควรปล่อยให้ขึ้นอิสระ ไม่ควรตัดหรือดึงทิ้ง อาหารที่จะช่วยบำรุงเล็บได้ดีได้แก่ วิตามินบี 2 และวิตามินดี ซึ่งจะมีอยู่ในตับสัตว์ มันฝรั่ง ปลา เนย ข้าวซ้อมมือ ยีสต์ (ขนมปัง) นมพร่องมันเนย และผักใบเขียวจัด
            เล็บที่ขาดการดูแล และขาดการเอาใจใส่มานาน จะทำให้เล็บขาดความเป็นประกายเงางาม แตก เปราะและหักง่าย หากต้องออกงานพบปะผู้คนและจะต้องแต่งเล็บอย่างเร่งด่วน ควรเลือกใช้ยาทาเล็บที่ช่วยให้เล็บแข็งแรง มีประกายแวววามอย่างเล็บที่มีสุขภาพดี ขั้นตอนการตกแต่งเล็บ ได้แก่
11.1 ล้างเล็บให้สะอาดด้วยยาล้างเล็บก่อนการตกแต่ง
11.2 แต่งเล็บให้ได้รูปด้วยตะไบ ถ้าจะให้ดีควรเป็นตะไบคริสตัล
11.3 ขัดเล็บเพื่อให้เล็บเรียบเนียน (ซึ่งจะให้ดีแล้วควรขัดเล็บทุก ๆ 4 สัปดาห์)
11.4 ใช้ครีมทาเล็บทีมีส่วนผสมของไบโอตินเพื่อช่วยนวดจมูกเล็บ
11.5 ทาเล็บด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงเล็บ
ภาพที่ 2.19 การดูแลเล็บที่ถูกวิธีจะทำให้มือดูสวยงาม
(ที่มา: http://www.blogspot.com)
12. การดูแลรักษาผิวพรรณ
            ผู้ที่มีผิวพรรณที่สดใสจะช่วยเสริมสง่าราศี แม้อายุจะมากแล้วแต่ผิวพรรณยังดูเปล่งปลั่งและนวลเนียนอยู่ก็จะเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้ดูดี น่ามอง ดังนั้นเราจึงควรต้องดูแลผิวพรรณตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งในแต่ละวัยจะมีการบำรุงผิวพรรณที่แตกต่างกัน ดังนี้
12.1 ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ผู้หญิงวัยนี้จะเป็นวัยที่มีผิวนุ่มละไม เปล่งปลั่งสดใสอย่างธรรมชาติ เพราะไม่มีปัญหาการไหลเวียนของเลือดลม เมื่อเข้าสู่วัย 25 ปี ร่างกายเริ่มผลิตอีลาสตินคอลลาเจน และไขมันช้าลง ผิวเริ่มเสื่อมถอยในการเก็บกักความชุ่มชื้น ผิวแห้งมากขึ้นไปตามวัยที่มากขึ้น เมื่ออายุใกล้ 30 ปี จะเห็นริ้วรอยย่นเล็ก ๆ รอบดวงตา วัยนี้ควรบำรุงผิวพรรณด้วยน้ำแร่และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เช่น เพิ่มการบำรุงด้วยวิตามินอีและซี เพื่อลดการรุกรานของอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวทำลายเซลล์ให้อยู่ในความสงบ ผลิตภัณฑ์ที่ควรเลือกใช้สำหรับดวงตาควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบา เช่น เจลครีม และที่สำคัญต้องสามารถปกป้องผิวจากรังสียูวี เพราะแสงแดดเป็นสาเหตุทำให้ผิวแก่ก่อนวัย การเมคอัพไม่ควรใช้รองพื้นหนาเพราะจะทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน ควรใช้เดย์ครีมที่มีส่วนผสมของสารกันรังสียูวีแทนรองพื้น หรือหากจะใช้รองพื้นควรเป็นรองพื้นที่อ่อนบาง หากเป็นสิวเม็ดเล็ก ๆ หรือผิวมีปัญหาให้ใช้ยาแต้มสิวฆ่าเชื้อปกปิดก่อน แล้วจึงทาแป้งฝุ่นบริเวณทีโซน เพื่อไม่ให้เป็นมันวาว แล้วจึงแต่งหน้าตามสีสันที่ต้องการ ซึ่งวัยนี้สามารถะเลือกสีได้ทุกเทรนด์
ภาพที่ 2.20 การแต่งหน้าให้เหมาะสมกับวัย ทำให้บุคลิกภาพดูดียิ่งขึ้น
(ที่มา: http://www.health4win.com)

12.2 ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เมื่อถึงวัยที่มีเลข 3 นำหน้า เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเริ่มเหนื่อยล้าแล้ว เมื่ออายุ 35 ปี เซลล์ต้องใช้เวลาผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวเป็นเวลา 30 วัน แทนที่จะเป็น 28 วัน เหมือนยังรุ่น ๆ นอกจากนี้ผิวยังผลิตไขมันน้อยลง 30% ข้อดีของผู้หญิงวัยนี้คือสิวที่เคยเป็นเริ่มห่างหายไป แต่จะมีข้อเสียคือ ผิวจะเก็บกักความชื้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีอีลาสตินน้อยลง ผิวเริ่มเผยริ้วรอยเล็ก ๆ ให้เห็นโดยเฉพาะริ้วรอยรอบดวงตา ริมฝีปาก และหน้าผาก ผู้หญิงวัยนี้ต้องบำรุงผิวลดเลือนริ้วรอย และให้พลังแก่ผิว ตอนกลางวันจึงควรต้องใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่ป้องกันรังสียูวี และมีวิตามินต่าง ๆ ให้ผิว เช่น วิตามินเอช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์ใหม่ ๆ วิตามินซีและอี ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และกระชับเซลล์ผิว ตอนกลางคืนควรบำรุงผิวโดยใช้ไนท์ครีมที่มีเอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวทำงานเพื่อผลัดเปลี่ยนเซลล์ และที่สำคัญต้องนอนหลับให้เพียงพอ เพราะตอนกลางคืนเซลล์ต่าง ๆ จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าไม่อยากมีริ้วรอยที่เกิดจากการแสดงสีหน้า ก็ควรใช้ครีมทารอบดวงตาและนำมานวดริมฝีปากด้วย นอกจากนี้ควรให้ดวงตาได้รับสารอาหารจากแผ่นมาส์กตา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15 นาที การเมคอัพควรใช้รองพื้นที่ช่วยสะท้อนแสงเม็ดสีเมลานินเพื่อกลบเกลื่อนริ้วรอย   เล็ก ๆ และยังช่วยให้ผิวเนียนเรียบสม่ำเสมอด้วย
12.3 ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงวัยนี้อะไรก็ดูลดน้อยลงผิดกับวัยที่เพิ่มขึ้น คาลาไมน์ที่เป็นตัวเชื่อมประสานงานระหว่างเซลล์ต่าง ๆ ลดจำนวนลงจนทำงานไม่ไหว นอกจากนี้พิษภัยรอบด้านก็เป็นตัวเร่งให้ผิวเสื่อมลงเร็วขึ้น เช่น การสูบบุหรี่ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด สิ่งเหล่านี้เป็น ตัวทำลายคอลลาเจน ซึ่งผลคือทำให้ผิวเปราะบาง แพ้ง่าย เกิดเส้นเลือดฝอยขึ้นที่แก้ม รูปทรงใบหน้าหย่อนคล้อย ริ้วรอยเล็ก ๆ ขยายใหญ่ขึ้น ผิวเหนื่อยล้าและซีดเซียวขาดชีวิตชีวา หญิงสาววัยนี้จึงต้องการทั้งการบำรุงในตอนกลางวันและกลางคืนด้วยผลิตภัณฑ์แอนตี้ เอจจิ้ง (Anti Aging) และเพื่อให้พลังกับผิวควรบำรุงด้วยการมาส์กผิว หรือเซรั่มยกระชับผิวเพื่อผ่อนคลายอาการเมื่อยล้า ดูแลบริเวณลำคอ และเนินอกให้กระชับมีความยืดหยุ่นด้วยการทาครีมบำรุงผิวทุกวัน การเมคอัพสาววัยนี้มักมีปัญหาเรื่องแก้มและคางที่หย่อนคล้อย ทำให้ดูเป็นคนสูงอายุ วิธีแต่งหน้าให้ดูอ่อนเยาว์คือใช้แป้งยกกระชับหน้าด้วยการทาแป้งสีทองโทนเข้ม โดยใช้พู่กันปัดแป้งที่ขากรรไกรล่างเป็นแนวยาวแล้วปัดเบา ๆ ลงไปใต้คางด้านหน้า ส่วนผิวหน้าและริมฝีปากที่ซีดเซียวให้แต้มสีสันเพียงเล็กน้อยและเป็นโทนสีเดียวกันกับตา แก้ม และปาก สีที่เหมาะสมคือโทนสีอบอุ่น เช่น สีเบจแชมเปญ หรือสีลูกท้อ
12.4 ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงวัยนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยถอยลงไปมากจึงส่งผลให้ผิวพรรณขาดความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้น เส้นเลือดหดตัวลง เซลล์ต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายและผิวพรรณหย่อนยาน ผู้หญิงวัยนี้จำนวนมากกว่า 60% มีรอยย่นตั้งแต่จมูกจนถึงริมฝีปาก กระบวนการผลิตเม็ดสีเมลานินทำงานไม่สม่ำเสมอ ผิวตกกระตามวัยขึ้นมาเป็นหย่อม ๆ วิธีการทดแทนฮอร์โมนที่หายไปคือต้องบำรุงด้วยผลิตภัณฑ์แอนตี้ เอจจิ้ง ที่จะช่วยพยุงคอลลาเจน กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต เติมความชุ่นชื้นให้กับผิว ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืชธรรมชาติและแร่ธาตุต่าง ๆ จะช่วยบำรุงผิวพรรณได้เป็นอย่างดี การเมกอัพจะต้องพึ่งพาบลัชออนเพื่อเบี่ยงเบนริ้วรอยรอบดวงตาไม่ให้โดดเด่นเกินไป และยังช่วยให้ใบหน้าดูสดใสอย่างรวดเร็ว การทาอายแชโดว์สีอ่อน เช่น สีงาช้าง สีชมพูอ่อน จะช่วยให้ดวงตาแจ่มใส
13. การดูแลรักษาขา
            ช่วงขาที่เรียวงามมักเป็นสิ่งที่หญิงสาวส่วนใหญ่ปรารถนา ศัตรูตัวร้ายที่จะทำให้เรียวขาไม่เรียวงามคือมีเซลลูไลต์เกาะอยู่ เซลลูไลต์มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะผิวหนังของผู้หญิงนั้นมี           อีลาสตินมากกว่าผู้ชาย และใต้ผิวของผู้หญิงก็มีเซลล์ไขมันโครงตาข่ายของคอลลาเจนที่ช่วยค้ำจุนเซลล์ผิว ดังนั้นเซลล์ไขมันที่พอกพูนเพิ่มขึ้นจึงเบียดแซงตาข่ายคอลลาเจนขึ้นมาด้านบน จนทำให้ผิวเป็นรอยตะปุ่มตะป่ำ การปราบเซลลูไลต์กระทำได้ ดังนี้
13.1 รับประทานอาหารต้านเซลลูไลต์ไม่ควรอดอาหาร เพราะการอดอาหารไม่ช่วยต้านเซลลูไลต์ได้ ดังนั้นจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่พอดี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ทำจากข้าวไม่ขัดสี ผักและผลไม้ หรือการรับประทานลูกเดือย ก็จะช่วยขับน้ำออกจากร่างกายได้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาล และแอลกอฮอล์
13.2 การออกกำลังกายที่ถูกวิธี จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นขาและสะโพกแข็งแรงและ         ดูเพรียวยิ่งขึ้น เพราะได้มีการเผาผลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรตออกไป ควรเลือกออกกำลังกายด้วย    การเดิน จ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยาน ซึ่งเป็นวิธีการต้านเซลลูไลต์ได้ดีที่สุด ทั้งยังเป็นการทำให้ร่างกายได้ขับสารพิษและกรดที่ไม่มีความจำเป็นออกไปด้วย
13.3 การนวดเป็นการกระตุ้นให้เลือดบริเวณผิวหนังได้ไหลเวียน อาจเลือกอาบน้ำร้อนและน้ำเย็นสลับกันพร้อมกับนวดผิวด้วยถุงมือสำหรับนวดหรือแปรง หรือจะพันด้วยสาหร่ายหรือ พอกโคลน สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยกระชับผิวได้เหมือนกัน
13.4 ใช้ครีมทาผิวที่แอนตี้เซลลูไลต์ ซึ่งมีขายอยู่มากมาย เช่น ไบโอเธิร์มเอสเตลอเดอร์    เป็นต้น ซึ่งการใช้ครีมเหล่านี้ต้องควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ภาพที่ 2.21 การขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ต้านเซลลูไลต์ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
(ที่มา: http://www.thaiherbtherapy.com)

14. การดูแลรักษาเท้า
            เท้าเป็นอวัยวะที่สำคัญ ในวันหนึ่ง ๆ เท้าจะต้องทำงานหนักเพื่อจะช่วยให้เจ้าของได้เคลื่อนไปยังที่ต่าง ๆ จึงต้องมีการดูแลรักษาเท้าอย่างถูกวิธี คือจะต้องล้างเท้าทุกครั้งที่เข้าบ้านด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ใช้มือถูเบา ๆ เพื่อให้สิ่งสกปรกหลุดออก จากนั้นซับด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง หากมีปัญหาเกี่ยวกับ  เชื้อรา ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที หากเท้าต้องทำงานหนักตลอดวัน จนเกิดอาการเมื่อยล้า เมื่อกลับถึงบ้านแล้วควรแช่เท้าลงในอ่างน้ำเย็นผสมกับเกลือจากนั้นเช็ดให้แห้งแล้วชโลมด้วยครีมทาผิว หรือโลชั่น
            ในช่วงวัยรุ่นขนาดของเท้าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่ควรเลือกใส่รองเท้าปลายส้นเล็กแหลม เพราะนิ้วจะถูกบีบและกดโค้งลงสู่พื้นข้างหน้า ทำให้เท้าบิดเบี้ยวได้ ดังนั้นในสถานศึกษาจึงกำหนดให้นักศึกษาใส่รองเท้าส้นเตี้ย และปลายเท้ากว้าง
            เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน ควรเลือกรองเท้าให้เข้ากับเท้า และจะต้องสร้างความสะดวกสบายให้เท้าด้วย ดังต่อไปนี้
14.1 การเลือกรองเท้าส้นสูง รองเท้าที่ใส่แล้วดูดีที่สุดคือรองเท้าส้นสูงยาวเรียว เพราะเมื่อใส่แล้วจะช่วยให้ช่วงขาดูยาวขึ้น หุ่นเพรียวขึ้น ระดับความสูงของส้นรองเท้ามาตรฐานควรอยู่ที่ 2 นิ้ว ซึ่งเป็นความสูงที่เหมาะสมกับหญิงสาวทุกรูปร่าง รองเท้าที่ส้นสูงเกินไปนอกจากจะทำให้เดินไม่สะดวก เสียการทรงตัวได้ง่าย และทำให้ปวดหลังแล้ว ถ้าใส่นาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อน่องหดตัวและทำให้ขาดูสั้นลง แพทย์จึงแนะนำว่าหากใส่รองเท้าส้นสูงมาก ๆ ควรใส่ครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง
14.2 ใส่รองเท้าให้สวย วิธีการเลือกรองเท้า ควรปฏิบัติดังนี้
14.2.1 นอกจากความสูงของรองเท้าแล้ว การเลือกซื้อรองเท้าจะต้องดูรูปแบบของส้นรองเท้าให้เข้ากับรูปร่างของเราด้วย เช่น หากเป็นคนรูปร่างใหญ่ ไม่ควรใส่รองเท้าส้นแหลมเพราะจะทำให้ร่างกายดูใหญ่ขึ้น ควรเลือกใส่รองเท้าที่ส้นหนาจะทำให้บุคลิกดูดี
14.2.2 ควรเลือกรองเท้าที่มีสีโทนเดียวกันกับเสื้อผ้าที่ใส่
14.2.3 หากใส่เสื้อผ้าโทนสีสว่าง ไม่ควรใส่รองเท้าสีดำ เพราะจะทำให้ดูหนักเกินไปและยังทำให้ ขาสั้นลงอีกด้วย
14.2.4 รองเท้าสีสว่างจะทำให้เท้าดูใหญ่ขึ้นหากเป็นรองเท้าแบบเปิด ควรตัดเล็บให้เรียบร้อยและล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อน เพื่อไม่ให้คนอื่นมองเห็นรอยสกปรกต่าง ๆ บนเท้า และควรเลือกใส่รองเท้า สีครีมหรือสีงาช้างจะดีกว่าสีขาว
14.2.5 รองเท้าที่มีสีสันสดใสหรือรองเท้าที่มีการประดับต่าง ๆ ทำให้ดูโดดเด่นก็จริง แต่จะทำให้เท้าดูใหญ่ขึ้น ควรจะเลือกแบบที่เรียบ ๆ และใส่ได้หลายโอกาสจะดีกว่า
14.2.6 รองเท้าผูกข้อทำให้ขาดูสั้นลง หากอยากใส่จริง ๆ ต้องเลือกแบบที่สายผูกข้อขนาดเล็ก
14.3 การเลือกรองเท้าให้เข้ากับรูปร่าง
14.3.1 ตัวเตี้ย ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 2 นิ้ว เลือกรองเท้าสีโทนเดียวกับถุงน่องและกระโปรง หรือถุงเท้าสีเดียวกับกางเกงที่ใส่ จะช่วยให้ดูสูงเพรียว ถ้าใส่รองเท้าแตะต้องเลือกแบบที่มีส้น
14.3.2 ข้อเท้าใหญ่ น่องใหญ่ เหมาะกับรองเท้าส้นสูง หัวแหลม เปิดด้านหลัง มีสายรัดบริเวณข้อเท้า ความสูงอย่างน้อยสุดคือครึ่งนิ้ว ไม่ควรใส่รองเท้าที่มีส้นหนาแหลมเกินไปเพราะจะทำให้ช่วงขาดูใหญ่กว่าเดิม นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับรองเท้าหัวเหลี่ยม รองเท้าส้นแหลม และรองเท้าแบบ  ผูกข้อ
14.3.3 เท้ายาว ไม่ควรสวมรองเท้าหัวแหลม แต่ควรเปลี่ยนไปสวมรองเท้าหัวมน หรือรองเท้าหัวเหลี่ยม
ภาพที่ 2.22 การแต่งกายที่เหมาะสมเป็นการส่งเสริมบุคลิกภาพได้อย่างดี
(ที่มา: http://www.bloggang.com)


สรุปสาระสำคัญ
บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมากและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ รูปร่าง ใบหน้า ผม คิ้ว จมูก ริมฝีปาก ฟัน ผิวพรรณ เป็นต้น ในการพัฒนาบุคลิกภาพนอกจากจะดูแลส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สะอาด สวยงามแล้ว ควรดูแลเกี่ยวกับการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสีตลอดจนการใช้เครื่องประดับ การใช้เครื่องสำอางเพื่อปกปิดส่วนที่บกพร่องเพื่อพัฒนาให้ดีดูยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว
 คำศัพท์ (Vocabulary)
คำศัพท์
คำแปล
Personality Development
การพัฒนาบุคลิกภาพ
External Personality
บุคลิกภาพภายนอก
Appearance
การปรับปรุงท่วงท่า
Self Confidence
การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
Human Relationship
การปรับปรุงมนุษย์สัมพันธ์
Reasoning Thinking
การเสริมสร้างความคิดอย่างมีเหตุผล
Creative Thinking
ความคิดริเริ่ม
Problem Solving
การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ


ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2

การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
ใบงานที่             2.1
เรื่องที่ศึกษา       การปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอก
วัตถุประสงค์      บอกวิธีการปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอกได้
คำชี้แจง            1. ให้นักเรียนนำรูปภาพของตนเอง 1 ภาพ การแต่งกายชุดสุภาพ (ภาพปัจจุบัน)
     ติดลงในกระดาษ เอ 4
2. เขียนบุคลิกภาพภายนอกที่ดีและไม่ดีของตนเองอย่างละ 5 ข้อ
3. เลือกบุคลิกภาพที่ไม่ดี 2 ข้อ นำมาเขียนวิธีการปรับปรุงเพื่อให้บุคลิกภาพดีขึ้น
4. นำผลงานเสนอหน้าชั้นเรียน
5. ครูและเพื่อน ๆ ช่วยกันประเมินผลงาน
6. นำผลงานส่งครู
ติดรูปภาพ


บุคลิกภาพที่ดี
บุคลิกภาพที่ไม่ดี
1.
1.
2.
2.
3.
3.
4.
4.
5.
5.
วิธีการปรับปรุงบุคลิกภาพที่ไม่ดี
1. บุคลิกภาพที่ไม่ดี คือ..................................................มีวิธีการปรับปรุง ดังนี้
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................
2. บุคลิกภาพที่ไม่ดี คือ..................................................มีวิธีการปรับปรุง ดังนี้
..............................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................



ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2
การพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
ใบงานที่             2.2
เรื่องที่ศึกษา       การดูแลและพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก
วัตถุประสงค์      นำวิธีการดูแลและพัฒนาบุคลิกภาพภายนอกไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
คำชี้แจง            1. ให้นักเรียนนำรูปภาพของตนเอง 1 ภาพ การแต่งกายชุดนักเรียน ระดับ ปวช.
    ที่ไม่เรียบร้อย ติดลงในกระดาษ เอ 4
2. ให้นักเรียนถ่ายภาพการปรับปรุงการแต่งกายให้เรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบ
    ของวิทยาลัย นำรูปภาพติดลงในกระดาษ เอ 4
3. อธิบายขั้นตอนและวิธีการปรับปรุงการแต่งกาย
4. นำผลงานเสนอหน้าชั้นเรียน
5. ครูและเพื่อน ๆ ช่วยกันประเมินผลงาน
6. นำผลงานส่งครู
ติดภาพที่แต่งกายไม่เรียบร้อย




ติดภาพที่ปรับปรุงการแต่งกายให้เรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบ ของวิทยาลัย




อธิบายขั้นตอนและวิธีการปรับปรุงการแต่งกาย








แบบประเมินผล (สำหรับนักเรียนประเมินตนเอง)
คำชี้แจง  ให้นักเรียนเขียนเครื่องหมาย ü ลงในช่องคะแนนให้ตรงกับความเป็นจริง
1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. มีวินัย
1.1 มีการวางแผนการทำงานและจัดระบบการทำงาน



1.2 ทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่วางไว้



1.3 ตรวจสอบความถูกต้อง ความเรียบร้อย คุณภาพของงาน



2. มีความรับผิดชอบ
2.1 ยอมรับผลการกระทำของตนเองทั้งผลดีและผลเสีย



2.2 ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์



2.3 ทำงานได้ตามกำหนดเวลา ตรงต่อเวลา



3. สนใจใฝ่รู้
3.1 มีความกระตือรือร้นและสนใจที่จะแสวงหาความรู้



3.2 ซักถาม ฟัง หรือสนทนาด้วยความสนใจ



3.3 มีความสุขที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้



4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4.1 คิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดประโยชน์ และพัฒนางานอยู่เสมอ



4.2 แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้



4.3 มีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดี



5. มีความผูกพัน   จิตสาธารณะ
5.1 เสียสละ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่



5.2 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน



5.3 แสดงกิริยาสุภาพ อ่อนน้อม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 45 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 9 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน

2. ด้านทักษะ กระบวนการ
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. การคิด
1.1 ใช้วิธีการสื่อสารในการนำเสนอข้อมูลได้เหมาะสม



1.2 เลือกข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



1.3 สรุปความคิดรวบยอดและสาระสำคัญของเรื่องที่เรียนได้



2. การแก้ปัญหา
2.1 ตั้งคำถามเรื่องที่จะศึกษาได้อย่างเป็นระบบ



2.2 รวบรวมข้อมูลความรู้ ได้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ



2.3 นำข้อมูลความรู้ที่ได้รับไปใช้แก้ปัญหาได้



3. การสื่อสาร
3.1 ใช้วิธีการสื่อสารนำเสนอข้อมูลได้อย่างเหมาะสม



3.2 เลือกรับข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



4. การใช้เทคโนโลยี
4.1 ค้นคว้าข้อมูลความรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง



4.2 เลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีคุณธรรม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 30 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 6 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน









ไม่มีความคิดเห็น: