บทที่ 7 วัฒนธรรมระหว่างประเทศ

แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
การที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่ม มีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้เราเรียกว่า วัฒนธรรม  ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายตกแต่งคนให้น่าดูชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนเสมอไป 
การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือกลุ่มอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเมือง เศรษฐกิจ ประชาชนในกลุ่มอาเซียนมีการติดต่อสื่อสารด้านต่าง ๆ มากขึ้น จึงจำเป็นต้องศึกษาวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อไป
หัวข้อเรื่อง (Topics)
1. ความหมายของวัฒนธรรม
2. ประเภทของวัฒนธรรม
3. ความสำคัญของวัฒนธรรม
4. วัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน
5. ภาษาอาเซียนน่ารู้
สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
1. แสดงความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
1. บอกความหมายของวัฒนธรรมได้
2. บอกประเภทของวัฒนธรรมได้
3. อธิบายความสำคัญของวัฒนธรรมได้
4. อธิบายวัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้
5. บอกภาษาอาเซียนน่ารู้ได้



เนื้อหา
วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตหรือสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตนวัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่นการเป็นอาณานิคม การค้าขาย การย้ายถิ่นฐาน การสื่อสารมวลชนและศาสนาอีกทั้งระบบความเชื่อล้วนมีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด
ดังนั้นการที่วัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ พันธุกรรม ประสบการณ์ และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเราสามารถฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ที่มีลักษณะนิสัยที่ดีงาม ถูกต้องตามวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคได้ โดยเราต้องมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรม และนำมาฝึกประพฤติปฏิบัติตัวในลักษณะที่ดีให้เกิดเป็นนิสัยประจำตัว ซึ่งแสดงออกทั้งทางด้านร่างกาย เป็นบุคลิกภาพที่ผู้อื่นสามารถมองเห็น นอกจากนั้นเราควรมีการพัฒนาฝึกฝนการแสดงกิริยามารยาทให้ปรากฏเป็นบุคลิกภาพของตนเอง เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในอาชีพเป็นที่รักใคร่ชื่นชอบของสังคม
ความหมายของวัฒนธรรม
                เมื่อกล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรม(Culture) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้
Buchner(1998 อ้างอิงใน ศุภลักษณ์ อังครางกูร 2547:128) กล่าวว่า วัฒนธรรมอาจอยู่ในรูปแบบที่สัมผัสได้ หรืออยู่ภายใต้ในตัวบุคคล สิ่งที่สัมผัสได้ เช่น การแต่งกาย ภาษา และสิ่งที่อยู่ภายใน เช่น ทัศนคติ ความเชื่อ คุณค่า การรับรู้ รูปแบบของวัฒนธรรมอาจถูกแบ่งตามการสื่อสาร กล่าวคือ วัฒนธรรมที่สามารถสื่อออกมาได้ด้วยเสียง เช่น ภาษา การหัวเราะ ร้องไห้ น้ำเสียง และวัฒนธรรมที่สื่อออกมาโดยไม่ใช้เสียง เช่น ท่าทาง สีหน้า การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการสนทนา
                นิตยา บุญสิงห์ (2554:12-13) กล่าวว่า วัฒนธรรม แปลตามตัวอักษรหมายความว่า สภาพอันเป็นความเจริญงอกงาม วัฒนธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรม วาจาท่าทาง กิจกรรม และผลิตผลของกิจกรรมที่มนุษย์ในสังคมผลิตหรือปรับปรุงขึ้นจากธรรมชาติและเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยผ่านการคัดเลือก ปรับปรุง และยึดถือสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมเป็นทั้งลักษณะนิสัยของคนหรือกลุ่มคนในชาติ ลัทธิ ความเชื่อ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอย ศิลปะต่างๆ ตลอดทั้งการประพฤติปฏิบัติในสังคม
                Daniel Bated และ Fred Plog (1998 อ้างอิงใน เมตตา วิวัฒนากูล.2548:51) ได้ให้คำนิยามของวัฒนธรรมไว้ว่า  วัฒนธรรมคือระบบการแบ่งปันร่วมกันใช้ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี พฤติกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่สมาชิกในสังคมใช้เพื่อติดต่อสัมพันธ์ในโลกของเขาต่อกันและกัน และมีการส่งต่อระหว่างรุ่นสู่คนรุ่นหลัง โดยกระบวนการเรียนรู้ คำจำกัดความนี้ หมายรวมถึงรูปแบบพฤติกรรมและรูปแบบความคิด (การให้ความหมายร่วมกันระหว่างสมาชิกในสังคมต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติ และความชาญฉลาด รวมถึงศาสนา และอุดมการณ์) สิ่งประดิษฐ์ (เครื่องมือ เครื่องจานชาม บ้าน เครื่องจักรกล งานศิลปะและความสามารถในการติดต่อทางวัฒนธรรมและเทคนิคในการใช้สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ)
                พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช2486 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้ (บ้านจอมยุทธ ม.ป.ป.)
                วัฒนธรรม คือลักษณะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันของประชาชน
                วัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งบุคคลและสังคม ที่ได้วิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาอย่างมีแบบแผน แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์นั้นไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่เฉพาะในสังคมของตัวเอง ได้มีวาทสัมพันธ์ติดต่อกับสังคมต่าง ๆ ซึ่งอาจอยู่ใกล้ชิดมีพรมแดนติดต่อกัน หรืออยู่ปะปนในสถานที่เดียวกัน หรือการที่ชนชาติหนึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้รู้จักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งต่างๆ จึงนำเอาวัฒนธรรมที่เห็นที่ได้สัมพันธ์ติดต่อกันมาใช้โดยอาจรับมาเพิ่มเติมเป็นวัฒนธรรมของตนเองโดยตรงหรือนำเอามาดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม
                ในปัจจุบันไม่มีประเทศชาติใดที่จะมีวัฒนธรรมบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่จะมีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ประสบการณ์ที่สังคมตกทอดมาโดยเฉพาะของสังคมนั้น และนำเอาวัฒนธรรมแหล่งอื่นที่ใกล้เคียงเข้ามาผสมผสาน ปะปนอยู่ ด้วยการติดต่อสัมพันธ์กันทางสังคมของกลุ่มชนนั้นๆ จนกลายมาเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งนั่นเอง
ประเภทของวัฒนธรรม
                วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ(บ้านจอมยุทธ ม.ป.ป.)
                1. วัฒนธรรมทางวัตถุ (Material Culture) คือเครื่องมือ เครื่องใช้ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความสุขทางกายอันได้แก่ ยานพาหนะ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
ภาพที่ 7.1 โบราณวัตถุบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
(ที่มา: http://www.arthousegroups.com)

2. วัฒนธรรมทางจิตใจ(Mental culture)เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของมนุษย์เพื่อให้เกิดปัญญา และมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผน ของขนบธรรมเนียมประเพณี
ภาพที่ 7.2ประเพณีสงกรานต์
(ที่มา: http://saomicro.blogspot.com)
ความสำคัญของวัฒนธรรม
                วัฒนธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการแสดงความเป็นชนชาติ ชาติใดไร้ซึ่งวัฒนธรรม แม้จะมีความสามารถเก่งกาจ ในด้านการรบ การสงคราม มีชัยชนะ แต่หากขาดซึ่งความมีวัฒนธรรม ก็จะไม่สามารถดำรงเอกลักษณ์ของชาติตนเองได้ ดังเช่นพวกตาดที่สามารถรบชนะจีนได้ แม้ได้ตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองจีนได้ แต่ในที่สุดด้วยจีนเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่เข้มแข็ง ในที่สุดวัฒนธรรมของจีนก็สามารถกลืนพวกตาดให้กลายมาเป็นชาวจีนได้อย่างหมดสิ้น จึงพอสรุปได้ว่าวัฒนธรรมมีความสำคัญดังต่อไปนี้ (บ้านจอมยุทธ, ม.ป.ป.)
                1. วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชี้แสดงให้เป็นความแตกต่างของบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าตนมีความแตกต่างจากสัตว์ ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เรามองเห็น การแปลความหมายของสิ่งที่เรามองเห็น เช่น การมองดูดวงจันทร์ คนไทยแปลความหมายของการมองดูดวงจันทร์ว่าเห็นเป็นรูปแบบกระต่ายชาวเกาะซามัวเห็นเป็นผู้หญิงกำลังทอผ้า และชาวออสเตรเลียเห็นเป็นตาแมวใหญ่กำลังมองหาเหยื่อ              
                2. วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
                3. วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ เช่น ผู้ชายไทยจะไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น
                4. วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่างในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ การกระทำบางอย่างเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมในสังคมหนึ่ง แต่อีกสังคมหนึ่งอาจจะเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ได้
                โดยทั่วไปลักษณะของวัฒนธรรม มีดังนี้
                1. เป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ (Due to learning)ไม่ใช่เป็นการติดตัวมาแต่กำเนิด หรือได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น การพูด การเขียน การแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเรียนรู้ทั้งสิ้น
2.เป็นวิถีชีวิต(Way of life)ในทางสังคมศาสตร์กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งกำหนดรูปแบบที่จดจำสืบต่อกันมาทั้งด้านครอบครัว เศรษฐกิจ การกิน การวางตัวในสังคมซึ่งเป็นแบบแผนของแต่ละชาติ
                3. เป็นมรดกทางสังคม(Heritage Society)วัฒนธรรมสามารถ่ายทอดสืบสานต่อกันได้ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน หรือสัญลักษณ์ในการสื่อสารต่างๆ ที่ช่วยให้มนุษย์เกิดความเข้าใจกันได้
                4. เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต
วัฒนธรรมระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ภาพที่ 7.3ตราสัญลักษณ์อาเซียน
(ที่มา: www.kapook.com)
                อาเซียนมาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ “ASEAN” มาจากคำว่า (Association of South East Asian Nation) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ คือไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 สำนักงานใหญ่ของสมาคมอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย การดำเนินงานของประชาคมอาเซียนมุ่งเน้นให้กลุ่มประเทศสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธี มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน และมุ่งหวังให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และมีสังคมแบบเอื้ออาทร    
                การจัดตั้งประชาคมอาเซียนนี้ จะทำให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันเพื่อให้มีความเข้มแข็งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีศักยภาพในการแข่งขัน และได้ย่นระยะเวลาในการจัดตั้งให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558
                ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อของแต่ละประเทศ เพื่อให้การติดต่อสัมพันธ์กันของชนชาติในอาเซียน ได้มีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันจะเป็นผลให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ บรรลุผลประสบกับความสำเร็จ และอยู่บนพื้นฐานของการทำงานที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน การได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยในที่นี้จะได้กล่าวถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เรียงลำดับดังต่อไปนี้
ภาพที่ 7.4แผนที่กลุ่มประเทศอาเซียน
(ที่มา: www.chiangmainews.co.th)
1. ประเทศไทย
1.1 ชื่อทางการ: ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
1.2เมืองหลวง: กรุงเทพมหานคร (Bangkok)
ภาพที่ 7.5กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
1.3ภาษาราชการ: ภาษาไทย
1.4ศาสนา: ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัย แม้ว่ายังจะไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง ศาสนาคริสต์และศาสนา
อื่นประมาณร้อยละ 1
1.5สกุลเงิน: บาท (Baht: THB)
 1.6ธงชาติ
ธงชาติไทย ประกอบด้วย 3 สีหลัก ได้แก่ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน มีการแบ่งเป็นริ้วจำนวน 5 แถบ ซึ่งแถบในสุดเป็นสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบน ด้านล่าง เป็นสีขาว และสีแดงตามลำดับ ทั้งนี้ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ส่วนสีต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ชาติ
สีขาว หมายถึง ศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
อย่างไรก็ตาม มีการเรียกชื่อธงนี้ว่า ธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี) เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ไว้เมื่อ พ.ศ. 2464 โดยได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ว่า
สีแดงหมายถึง ชาติ หรือความเป็นชนชาติไทย ความเป็นแผ่นดินไทย
สีขาวหมายถึง ศาสนา หรือลัทธิความเชื่ออันบริสุทธิ์
สีน้ำเงินหมายถึง พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงแม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอด

ภาพที่ 7.6ธงชาติประเทศไทย

(ที่มา: www.kapook.com)
1.7ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติไทยคือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) มีสีเหลืองสวยสง่างาม เมื่อเบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ “ดอกคูน” โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์ รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น เหลือไว้เพียงแค่สีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น
ภาพที่ 7.7ดอกราชพฤกษ์
(ที่มา:www.kapook.com)
1.8สัตว์ประจำชาติ
ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทยมาอย่างยาวนาน โดยในสมัยโบราณบ้านเรามีช้างอยู่มากมายนับแสนตัว ช้างส่วนมากจะถูกใช้ในการสงครามเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีอาวุธสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ช้างจึงถูกนำไปใช้แรงงานจำพวกชักลากไม้ในป่า และในปัจจุบันช้างเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ถูกใช้ในงานการแสดงและการท่องเที่ยว ประเทศไทยเคยใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของธงชาติ เรียกว่าธงช้างเผือก ก่อนจะถูกเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์อย่างในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2460 แต่ยังมีธงหน่วยงานราชการบางแห่งที่ใช้ใช้ช้างเป็นองค์ประกอบ เช่น ธงของราชนาวีไทย เป็นต้น 
ภาพที่ 7.8ช้าง
(ที่มา: www.kapook.com)
1.9ชุดประจำชาติ
สำหรับชุดประจำชาติอย่างเป็นทางการของไทย รู้จักกันในนามว่า “ชุดไทยพระราชนิยม”โดยชุดประจำชาติสำหรับสุภาพบุรุษ จะเรียกว่า “เสื้อพระราชทาน”
สำหรับสุภาพสตรีจะเป็นชุดไทยที่ประกอบด้วยสไบเฉียง ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาด ส่วนท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บให้ติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือ จะมีผ้าสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าการเย็บและรูปทรงของผู้ที่สวม ใช้เครื่องประดับได้งดงามเหมาะสมโอกาสในเวลาค่ำคืน
ภาพที่ 7.9ชุดไทยพระราชนิยม
(ที่มา:www.kapook.com)
1.10วัฒนธรรม
สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือ เพ็ญเดือน 11 และเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลาที่น้ำไหลหลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ คนไทยจึงจัดทำกระทงพร้อมด้วยธูปเทียนไปลอยในแม่น้ำลำคลองเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิดประเพณีลอยกระทงนอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ อีกในส่วนที่เกี่ยวกับแม่น้ำลำคลอง เช่น ประเพณีแข่งเรือ
ภาพที่ 7.10ประเพณีแข่งเรือยาว
(ที่มา: www.kapook.com)
1.11วิถีชีวิต
วิถีชีวิตของคนไทยในอดีต อาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง สัญจรไปมาด้วยเรือ นับถือศาสนาพุทธ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และการใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธทั้งสิ้น คนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยเป็นมิตรยิ้มง่าย จนได้รับสมญานามว่า “สยามเมืองยิ้ม” คนไทยมีบรรพบุรุษมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทยแท้ จีน มอญ ญวน มลายู เป็นต้น
จากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้นเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ยังคงปลูกฝังความเป็นไทย การเคารพผู้ใหญ่ ความผูกพันในเครือญาติและความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ภาพที่ 7.11วิถีชีวิตคนไทย
(ที่มา: https://sites.google.com)
1.12อาหาร
ต้มยำกุ้ง (Tom Yam Goong) อาหารขึ้นชื่อที่สุดของประเทศไทยของเรา ซึ่งจริงๆแล้วในประเทศไทยมีอาหารรสชาติเยี่ยมยอดและขึ้นชื่ออยู่มากมาย แต่ถ้าจะให้เลือกอาหารที่ขึ้นชื่อและนักท่องเที่ยวต่างประเทศชอบกินกันมากที่สุด ก็คือต้มยำกุ้ง ด้วยรสชาติที่เผ็ด เปรี้ยว รวมกับกุ้งแม่น้ำและเครื่องแกงทั้ง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองไทยต้องได้ลิ้มลองกันทุกคน
ภาพที่ 7.12ต้มยำกุ้ง
(ที่มา:www.pakpink.com)
1.13จุดแข็ง
1.13.1 เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคมนาคมด้านต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
1.13.2 มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง
1.14ข้อควรรู้
1.14.1ไปศาสนสถานควรแต่งกายเรียบร้อยก่อนเข้าอุโบสถต้องถอดรองเท้า
1.14.2สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ การละเมิดใดๆ ถือเป็นความผิด
ตามรัฐธรรมนูญ
1.14.3ทักทายกันด้วยการไหว้
1.14.4ถือว่าเท้าเป็นของต่ำ ไม่ควรพาดบนโต๊ะ หรือเก้าอี้ หรือหันทิศทางไปที่ใคร
1.14.5ธงชาติถือเป็นของสูง ไม่ควรนำมากระทำการใดๆที่เป็นการเหยียดหยาม
2. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
2.1 ชื่อทางการ: สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
2.2เมืองหลวง: กรุงมะนิลา (Manila)
ภาพที่ 7.13กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
2.3ภาษาราชการ: ภาษาฟิลิปิโน (Filipino) และภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่ใช้กันมากในประเทศฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 8 ภาษา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาซินด์ ภาษาปัญจาบ ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ โดยฟิลิปปินส์นั้นมีภาษาประจำชาติคือ ภาษาตากาล็อก
2.4ศาสนา: ร้อยละ 92 ของชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดนับถือศาสนาคริสต์ โดยร้อยละ 83 นับถือนิกายโรมันคาทอลิก และร้อยละ 9 เป็นนิกายโปรเตสแตนต์ มุสลิมร้อยละ 5 พุทธและอื่น ๆ ร้อยละ 3
2.5สกุลเงิน: เปโซ (Peso : PHP)
2.6ธงชาติ
ธงชาติฟิลิปปินส์ ด้านต้นธงเป็นรูปสามเหลี่ยมสีขาว เป็นเครื่องหมายแทนความเสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งภายในสามเหลี่ยมสีขาว ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์รัศมี 8 แฉก ล้อมด้วยดาว 5 แฉก จำนวน 3 ดวง และตั้งอยู่ตามมุมของรูปสามเหลี่ยม ซึ่งสัญลักษณ์ทั้งหมด ล้วนเป็นสีทอง ส่วนด้านที่เหลือของธง ได้แบ่งครึ่งตามความยาว โดยแถบบนมีสีน้ำเงิน และแถบล่างมีสีแดง
ทั้งนี้ หากแถบทั้งสองสีดังกล่าว ได้มีการสลับตำแหน่งกัน คือ แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีน้ำเงินอยู่ด้านล่าง แสดงว่า ขณะนั้นประเทศฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในภาวะสงคราม ส่วนสี และสัญลักษณ์ ต่างๆ มีความหมาย ดังนี้
สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพ สัจจะ และความยุติธรรม
สีแดง หมายถึง ความรักชาติ และความมีคุณค่า
ดวงอาทิตย์มีรัศมี 8 แฉก หมายถึง 8 จังหวัดแรกของประเทศ ที่มีความพยายาม ในการเรียกร้องเอกราชจากประเทศสเปน กระทั่งเกิดการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2439
ดาวสามดวง หมายถึง การแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของประเทศออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ  ได้แก่ เกาะลูซอน เกาะมินดาเนา และหมู่เกาะวิสายัน
ภาพที่ 7.14ธงชาติประเทศฟิลิปปินส์
(ที่มา:www.kapook.com)
2.7ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ คือ ดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine) ดอกมีสีขาวกลีบดอกเป็นรูปดาว มีกลิ่นหอม บานส่งกลิ่นในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงความเข้มแข็งอีกด้วย
ภาพที่ 7.15ดอกพุดแก้ว
(ที่มา:www.kapook.com)
2.8สัตว์ประจำชาติ
ควาย (Water Buffalo) ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น ถูกนำมาใช้แรงงานเหมือนในประเทศเวียดนาม ทั้งแรงงานในด้านการเกษตรกรรมและด้านการชักลากของหนัก ดังนั้นคนฟิลิปปินส์จึงมีความผูกพันกับควายมากเป็นพิเศษ และควายได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติฟิลิปปินส์ ควายเรียกตามภาษาพื้นเมืองหรือภาษาตากาล็อคว่า “คาราบาว” และชื่อนี้ถูกนำมาใช้เป็นชื่อวงดนตรีชื่อดังของไทยและใช้รูปหัวควายเป็นสัญลักษณ์
ภาพที่ 7.16ควาย
(ที่มา:www.kapook.com)
2.9ชุดประจำชาติ
ผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อที่เรียกว่า “บารอง ตากาล็อก (barong Tagalog)”ซึ่งตัดเย็บด้วยผ้าใยสัปปะรด มีบ่า คอตั้ง แขนยาว ที่ปลายแขนเสื้อที่ข้อมือจะปักลวดลาย ส่วนผู้หญิงนุ่งกระโปรงยาว ใส่เสื้อสีครีมแขนสั้นจับจีบยกตั้งขึ้นเหนือไหล่คล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า “บาลินตาวัก (balintawak)
ภาพที่ 7.17ชุดประจำชาติประเทศฟิลิปปินส์
(ที่มา:www.kapook.com)
2.10วัฒนธรรม
อิทธิพลวัฒนธรรมจากสเปนและเมกซิโก เรียกว่า “Hispanic Influences”ที่มีมากกว่า 300 ปี ในช่วงการปกครองแบบอาณานิคม จะเห็นได้จากความเชื่อในศาสนาคาธอลิกงานประเพณีทางศาสนาในทุกปี ฟิลิปปินส์จะมีงานรื่นเริง เรียกว่า “Barrio Fiesta”เป็นการฉลองนักบุญของเมือง หมู่บ้านและเขตการปกครองต่างๆ มีการประกอบพิธีทางศาสนา การเดินขบวนในเมืองฉลองนักบุญ การจุดพลุไฟ การประกวดความงามและการเต้นรำ
 2.11วิถีชีวิต
ประชากรฟิลิปปินส์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีชนเผ่ากว่า 100 ชนเผ่า กระจายกันอยู่แต่ละเผ่ามีภาษาพูดเป็นของตนเอง รัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในที่ดินแก่ชนเผ่าพื้นเมืองแต่ก็ยังได้รับสิทธิไม่ทั่วถึง เนื่องจากห่างไกลความเจริญ และอิทธิพลของนายทุนต่างชาติทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงที่ดินกัน ส่วนอัตราการเจริญเติบโตของฟิลิปปินส์ยังคงสูง เพราะความเชื่อด้านวัฒนธรรม และการบริการด้านสาธารณสุขยังไม่ทั่วถึง
ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ วิถีชีวิตได้รับอิทธิพลมาจากศาสนา ชนเผ่าผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับศาสนาใหม่ ชาวฟิลิปปินส์ให้การเคารพผู้ใหญ่ สำนึกบุญคุณ รักพวกพ้อง เด็กๆ ในชนเผ่าเมื่อได้รับการศึกษาก็นิยมเข้าไปอยู่ในเมือง ชาวฟิลิปปินส์กินข้าวเป็นอาหารหลักและนิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด จนมีร้านฟาสต์ฟู้ดสัญชาติฟิลิปปินต์เอง
2.12อาหาร
อโดโบ้ (Adobo) อาหารยอดนิยมที่ต้องลิ้มลองของประเทศฟิลิปปินส์ อโดโบ้ทำจากเนื้อหมู หรือเนื้อไก่ โดยผ่านการหมักและปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู ซีอิ๊วขาว ใบกระวาน กระเทียม พริกไทยดำ จากนั้นนำไปอบหรือทอด ทานกับข้าวสวยร้อนๆ ถือว่าเป็นอาหารที่น่าสนใจมากถ้าได้มีโอกาสไปเยือน
ภาพที่ 7.18อโดโบ้
(ที่มา:www.pakpink.com)
2.13จุดแข็ง
2.13.1 แรงงานทั่วไป มีความรู้สื่อสารภาษาอังกฤษได้
2.14ข้อควรรู้
2.14.1เท้าสะเอว หมายถึง ท้าทายเลิกคิ้ว หมายถึง ทักทาย
2.14.2ใช้ปากชี้ของ
2.14.3กินข้าวบ้านเพื่อนสามารถห่อกลับได้ แต่ควรมีของฝากให้เขาด้วย
2.14.4ตกแต่งบ้าน 2 เดือน ต้อนรับคริสต์มาส
3. ประเทศมาเลเซีย
3.1 ชื่อทางการ: มาเลเซีย (Malaysia)
3.2เมืองหลวง: กรุงกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur)
ภาพที่ 7.19กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
3.3ภาษาราชการ: มาเลย์ (Bahasa Malaysia) อังกฤษ จีน ทมิฬ
3.4ศาสนา: อิสลาม (ศาสนาประจำชาติ พุทธ คริสต์ ฮินดู อื่น ๆ)
3.5สกุลเงิน: ริงกิตมาเลเซีย (Malaysian Ringgit : MYR)
3.6ธงชาติ
ธงชาติมาเลเซีย มีแถบสีแดงสลับสีขาวรวม 14 แถบ แต่ละแถบมีความกว้างเท่ากัน ที่มุมธงด้านคันธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินกว้าง 8 ใน 14 ส่วนของผืนธงด้านกว้าง และยาวกึ่งหนึ่งของผืนธงด้านยาว ภายในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าดังกล่าว มีเครื่องหมายพระจันทร์เสี้ยว และดาว 14 แฉก ซึ่งสี และสัญลักษณ์ ต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้
แถบริ้วสีแดง และสีขาว ทั้ง 14 ริ้ว หมายถึง สถานะอันเสมอภาคของรัฐสมาชิกทั้ง 13 รัฐ
ภายในประเทศมาเลเซีย
ดาว 14 แฉก หมายถึง ความเป็นเอกภาพในหมู่รัฐดังกล่าวทั้งหมด
พระจันทร์เสี้ยวหมายถึง ศาสนาอิสลามอันเป็นศาสนาประจำชาติ
สีเหลืองในพระจันทร์เสี้ยว และดาว 14 แฉก สื่อถึง ผู้เป็นประมุขแห่งสหพันธรัฐ
สีน้ำเงิน หมายถึง ความสามัคคีของชาวมาเลเซีย
ภาพที่ 7.20ธงชาติประเทศมาเลเซีย
(ที่มา: www.kapook.com)

3.7ดอกไม้ประจำชาติ

สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น มีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกพู่ระหง (Bunga Raya) ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า “บุหงารายอ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ดอกชบาสีแดง” ลักษณะกลีบดอกเป็นสีแดงมีเกสรยื่นยาวออกมาเหนือดอก ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และความงามได้อีกด้วย
ภาพที่ 7.21ดอกพู่ระหง
(ที่มา:www.kapook.com)
3.8สัตว์ประจำชาติ
เสือโคร่งมาลายูเป็นสัตว์ตระกูลเสือโคร่งที่มีลักษณะเฉพาะ มีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงมาก พบมากทางภาคกลางของประเทศมาเลเซียและสามารถพบได้ในป่าดิบชื้นของประเทศเช่น เพนนิซูล่า กลันตัน ตรังกานู เประ ปะหัง และป่าตอนใต้สุดของไทยที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย นอกจากเสือโคร่งมลายูจะเป็นสัตว์ประจำชาติมาเลเซีย ยังปรากฏอยู่ในตราสัญลักษณ์ของประเทศ และเรานิยมเรียกคนมาเลย์และทีมกีฬาของมาเลเซียว่าทีมเสือเหลืองอีกด้วย ซึ่งคำว่าเสือเหลืองหมายถึงเสือโคร่งมลายูนั่นเอง
ภาพที่ 7.22เสือโคร่งมาลายู
(ที่มา: www.kapook.com)
3.9ชุดประจำชาติ
สำหรับชุดประจำชาติมาเลเซียของผู้ชาย เรียกว่า “บาจู มลายู (Baju Melayu)”ประกอบด้วยเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือโพลีเอสเตอร์ที่มีส่วนผสมของผ้าฝ้าย ส่วนชุดของผู้หญิงเรียกว่า “บาจูกุรุง (Baju Kurung)”ประกอบด้วยเสื้อคลุมแขนยาว และกระโปรงยาว
ภาพที่ 7.23ชุดประจำชาติประเทศมาเลเซีย
(ที่มา: www.kapook.com)
3.10วัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่ 2 แบบ คือ
3.10.1ชาวมลายูที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบ Adat Temenggong เป็นขนบธรรมเนียมที่ยึดถือในรัฐส่วนใหญ่ของแหลมมลายู ยกเว้นรัฐนัครีซัมบีลัน ว่ากันว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือมาตั้งแต่ยุคแรกรัฐมะละกาจนขยายไปยังรัฐต่างๆในแหลมมลายู ขนบธรรมเนียมนี้จัดตั้งขึ้นโดย Datuk Ketemenggungan จากเกาะสุมาตรา จากการที่ขนบธรรมเนียมประเพณี Adat Temenggong มีการผสมผสานกับขนบธรรมเนียมเดิมที่มีอยู่แล้ว จึงได้เกิดเป็นกฎหมายมีชื่อแตกต่างกัน เช่น กฎหมายมะละกา (Undang-Undang Melaka) กฎหมายโยโฮร์(Undang-Undang Johor) และกฎหมายเคดะห์ (Undang-Undang Kedah)
                3.10.2 ชาวมลายูที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแบบ Adat Minangkabau หรือ Adat Perpatih เป็นขนบธรรมเนียมที่ยึดถือในรัฐนัครีซัมบีลัน และบางส่วนของรัฐมัละกา ผู้สร้างขนบธรรมเนียมประเพณีนี้คือ Datuk Nan Sebatang ซึ่งเป็นพี่น้องของ Datuk Ketumanggungan ผู้สร้างขนบธรรมเนียมประเพณีAdat Temenggon
3.11วิถีชีวิต
มาเลเซียประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นมลายู รองมาคือจีน และอินเดียที่เหลือเป็นกลุ่มชนพื้นเมือง ศาสนาประจำชาติ คือศาสนาอิสลาม แต่ในประเทศมีศาสนสถานของศาสนาต่าง ๆ ทั้งโบสถ์ฮินดู และวัดพุทธแบบจีน ภาษาและความเป็นอยู่มีความหลากหลาย การรับประทานอาหาร และวัฒนธรรมได้รับเอาของทุกเชื้อชาติมาผสมรวมกัน และมีการแต่งงานข้ามเชื้อ
ชาติเกิดขึ้นเสมอ ความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเพราะรัฐบาลให้สิทธิแก่ชาวมาเลย์มากกว่าเชื้อชาติอื่น
ชาวปรานากัน เป็นลูกครึ่งระหว่างชาวมาเลเซียและชาวจีนฮกเกี้ยน อพยพเข้ามาอาศัยในดินแดนมลายู บริเวณมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รู้จักกันมาในนาม “บาบ๋าย่าหยา” ในมะละกาและปีนังมีชาวปรานากันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จุดเด่นของชาวปรานากันคือสามารถพูดได้ทั้งภาษาจีน อังกฤษและมลายู สถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมระหว่างจีนและโปรตุเกส บ้านเรือนมีสีสันสดใส การปรุงอาหารแบบผสมโดยการนำอาหารจีนมาปรุงด้วยเครื่องปรุงของชาวมาเลย์
3.12อาหาร
นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak) อาหารขึ้นชื่อของประเทศมาเลเซีย เป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยข้าวที่หุงกับกะทิและใบเตย ทานพร้อมเครื่องเคียง 4 อย่าง คือ แตงกวาหั่น ถั่วอบ ไข่ต้มสุก และปลากะตักทอดกรอบ เมื่อก่อนอาหารชนิดนี้นิยมทานเป็นอาหารเช้า แต่ในปัจจุบันเป็นอาหารที่ทานกันในทุกมื้อและสามารถหาทานได้ง่าย รวมทั้งภาคใต้ของประเทศไทยด้วย
ภาพที่ 7.24นาชิ เลอมัก
(ที่มา:www.pakpink.com)
3.13จุดแข็ง
3.13.1มีปริมาณสำรองน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิค
3.13.2มีปริมาณก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิค
3.14ข้อควรรู้
3.14.1 ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะได้รับสิทธิพิเศษ คือ เงินอุดหนุนทางด้านการศึกษา สาธารณสุข การคลอดบุตรงานแต่งงานและงานศพ
3.14.2มาเลเซียมีปัญหาประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ในมาเลเซียประกอบด้วยชาวมาเลย์ กว่าร้อยละ 40 ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 33 เป็นชาวจีนร้อยละ10 เป็นชาวอินเดีย และอีกร้อยละ 10 เป็นชนพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียว
3.14.3ใช้มือขวาเพียงข้างเดียวในการรับประทานอาหาร และรับส่งของ
3.14.4เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องต้องห้าม
4. ประเทศสิงคโปร์
4.1 ชื่อทางการ: สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore)
4.2เมืองหลวง: สิงคโปร์
ภาพที่ 7.25สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
4.3ภาษาราชการ: ภาษามาเลย์ (ภาษาประจำชาติ) จีนกลาง (แมนดาริน) ทมิฬ และอังกฤษ สิงคโปร์ส่งเสริมให้ประชาชนพูด 2 ภาษา โดยเฉพาะจีนกลาง ในขณะที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่องานและในชีวิตประจำวัน
4.4ศาสนา: พุทธ 42.5% อิสลาม 14.9% คริสต์ 14.5% ฮินดู 4% ไม่นับถือศาสนา 25%
4.5สกุลเงิน: ดอลลาร์สิงคโปร์ (Singapore Dollar: SGD)
4.6ธงชาติ
ธงชาติสิงคโปร์ ประกอบด้วยแถบสองสีแบ่งครึ่งกลางธง แถบสีแดงอยู่ด้านบน แถบสีขาวอยู่ด้านล่าง ที่มุมด้านบนของคันธง เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ถัดจากรูปดังกล่าวมีดาว 5 แฉก  จำนวน 5 ดวง เรียงเป็นรูปห้าเหลี่ยมด้านเท่า โดยรูปพระจันทร์เสี้ยว และดาว 5 แฉก ต่างมีสีขาว ซึ่งสี และสัญลักษณ์ ต่างๆ มีความหมาย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ภราดรภาพ และความเสมอภาคของมนุษย์โดยทั่วหน้า
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และความดีงามที่แพร่หลาย และคงอยู่ตลอดกาล
รูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น หมายถึง ความเป็นชาติใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น
ดาว 5 ดวง หมายถึง อุดมคติ 5 ประการของชาติ ได้แก่ ประชาธิปไตย สันติภาพ ความก้าวหน้า ความยุติธรรม และความเสมอภาค
ภาพที่ 7.26ธงชาติประเทศสิงคโปร์
(ที่มา:www.kapook.com)

4.7ดอกไม้ประจำชาติ
ประเทศสิงคโปร์ มีดอกกล้วยไม้แวนด้า (Vanda Miss Joaquim) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกกล้วยไม้แวนด้าตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ คือ Miss Agnes Joaquim จัดเป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์มีสีม่วงสดสวยงามและเบ่งบานอยู่ตลอดทั้งปี โดยถูกจัดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)
ภาพที่ 7.27ดอกกล้วยไม้แวนด้า
(ที่มา: www.kapook.com)
4.8สัตว์ประจำชาติ
ประเทศสิงคโปร์ เดิมมีชื่อว่าเมืองสิงหปุระ (Singapura) ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งสิงโต แต่ไม่มีรายงานการพบสิงโตอยู่ตามธรรมชาติในประเทศสิงคโปร์เลย เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีป่าไม้หรือทุ่งหญ้าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิงโต มีแต่เรื่องเล่าที่ว่ามีผู้เคยพบเห็นสัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายสิงโตอยู่บนดินแดนแห่งนี้เท่านั้น แต่กระนั้นสิงโตก็ยังได้รับเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติสิงคโปร์
ภาพที่ 7.28 สิงโต
(ที่มา: www.kapook.com)
4.9ชุดประจำชาติ
สิงคโปร์ไม่มีชุดประจำชาติเป็นของตนเอง เนื่องจากประเทศสิงคโปร์แบ่งออกเป็น 4เชื้อชาติหลัก ๆ ได้แก่ จีน มาเลย์ อินเดีย และชาวยุโรป ซึ่งแต่ละเชื้อชาติก็มีชุดประจำชาติเป็นของตนเองเช่น ผู้หญิงมลายูในสิงคโปร์ จะใส่ชุดเกบาย่า (Kebaya) ตัวเสื้อจะมีสีสันสดใส ปักฉลุเป็นลายลูกไม้ หากเป็นชาวจีน ก็จะสวมเสื้อแขนยาว คอจีน เสื้อผ้าหน้าซ่อนกระดุม สวมกางเกงขายาว โดยเสื้อจะใช้ผ้าสีเรียบหรือผ้าแพรจีนก็ได้
ภาพที่ 7.29ชุดประจำชาติประเทศสิงคโปร์
(ที่มา:www.kapook.com)
4.10วัฒนธรรม
การสูบบุหรี่ถ้าพูดถึงเรื่องการสูบบุหรี่ ที่สิงคโปร์มีกฎห้ามสูบบุหรี่ในรถขนส่งมวลชน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ลิฟท์ โรงละคร โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารติดแอร์ ร้านอาหารไม่ติดแอร์ ศูนย์อาหาร ร้านทำผม ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการปรับปรุงบรรยากาศยามค่ำคืน จึงมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในสถานบันเทิง ตอนนี้มีกฎห้ามสูบบุหรี่ในผับ ดิสโก้ ร้านคาราโอเกะ และไนท์สป็อตทุกแห่งแล้ว เว้นแต่จะมีห้องสำหรับสูบบุหรี่หรือมุมสูบบุหรี่ที่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ฝ่าฝืนอาจเสียค่าปรับเป็นจำนวนถึง1,000 เหรียญสิงคโปร์
การให้ทิปไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของโรงแรมและร้านอาหารส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ได้เก็บค่าบริการไปแล้ว 10% ในบิลของลูกค้า การให้ทิปไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์และมีข้อห้ามการให้ทิปที่สนามบินอีกด้วย
4.11วิถีชีวิต
ประชากรของสิงคโปร์มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ทำให้มีภาษา วัฒนธรรม และการแต่งกายที่หลากหลายตามไปด้วย ความหลากหลายเหล่านี้ สามารถมองเห็นได้จากการแต่งกาย อาคารบ้านเรือน ศาสนา และอาหาร ย่านไชน่าทาวน์ แสดงถึงความเป็นจีน ส่วนย่านลิตเติลอินเดีย แสดงถึงความเป็นอินเดียอย่างชัดเจน
ความแตกต่างของชาวสิงคโปร์ไม่เป็นปัญหาด้านการอยู่ร่วมกัน ประชากรสิงคโปร์สามารถอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนมีความรักชาติ จึงทำให้ประเทศสิงคโปร์มีความสงบสุข
4.12อาหาร
ลักซา (Laksa) อาหารที่ได้รับความนิยมที่สุดในสิงคโปร์ ซึ่งลักซาจะมีลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยวต้มยำมี 2 รูปแบบคือ แบบไม่ใส่กะทิ และแบบใส่กะทิ ซึ่งแบบใส่กะทิจะนิยมมากกว่า เพราะรสชาติจะเข้มข้นแบบแกงกะทิบ้านเรา ดูไปดูมาก็อาจจะคล้ายๆกับข้าวซอยทางภาคเหนือ แต่ลักซาจะมีส่วนประกอบเป็น กุ้ง หอยแครง จึงเหมาะกับคนที่ชอบทานอาหารทะเล
ภาพที่ 7.30ลักซา
(ที่มา: www.pakpink.com)
4.13จุดแข็ง
4.13.1รายได้เฉลี่ยต่อคน เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 15 ของโลก
4.13.2แรงงานมีทักษะสูง
4.14ข้อควรรู้
4.14.1 หน่วยราชการเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 น.-13.00 น. และ 14.00 น.-16.30 น. และวันเสาร์ เปิดทำการระหว่างเวลา 08.00 น.-13.00 น.
4.14.2การหลบหนีเข้าสิงคโปร์และประกอบอาชีพเร่ขายบริการผิดกฎหมาย จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง
4.14.3การลักลอบนำยาเสพติด อาวุธปืนและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆจะได้รับโทษอย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
4.14.4ขึ้นบันไดเลื่อนให้ชิดซ้าย
4.14.5ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราดห้ามเก็บผลไม้ในที่สาธารณะ
4.14.6ผู้สูงอายุทำงาน ถือเป็นเรื่องปกติ
5. ประเทศอินโดนีเซีย
5.1 ชื่อทางการ:  สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia)
5.2เมืองหลวง: จาการ์ตา (Jakarta)
ภาพที่ 7.31กรุงจาร์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
 5.3ภาษาราชการ: ภาษาอินโดนีเซีย หรือ Bahasa Indonesia
5.4ศาสนา: ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 3.5 นับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก ร้อยละ 1.8 นับถือศาสนาฮินดู และร้อยละ 1.3 นับถือ ศาสนาพุทธ 4
5.5สกุลเงิน: รูเปียห์ (Rupiah : IDR)
5.6ธงชาติ
ธงชาติอินโดนีเซีย พื้นธงแบ่งเป็นสองส่วนตามแนวนอน โดยสีต่าง ๆ ของธง มีความหมาย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ และอิสรภาพ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ภาพที่ 7.32 ธงชาติประเทศอินโดนีเซีย
(ที่มา:www.kapook.com)
5.7ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซีย คือ ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid) ซึ่งเป็นหนึ่งในดอกกล้วยไม้ที่บานอยู่ได้นานที่สุดโดยช่อดอกนั้นสามารถแตกกิ่งและอยู่ได้นาน 2-6 เดือน โดยดอกจะบานแค่ปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ดอกกล้วยไม้ราตรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น จึงพบเห็นได้ง่ายในพื้นที่ราบต่ำของประเทศอินโดนีเซีย
ภาพที่ 7.33กล้วยไม้ราตรี
(ที่มา:www.kapook.com)

5.8สัตว์ประจำชาติ
มังกรโคโมโดเป็นสัตว์โบราณตระกูลตัวเงินตัวทองชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับสัตว์ในตระกูลเดียวกัน พบได้เฉพาะในประเทศอินโดนีเซียบริเวณเกาะโคโมโด รินคาฟลอเรส และกิลีโมตาง เป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายกว่าเพื่อร่วมสายพันธุ์ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และด้วยความที่สามารถพบเห็นได้เพียงแห่งเดียวในโลกในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น มังกรโคโมโดจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติอินโดนีเซีย
ภาพที่ 7.34มังกรโคโมโด
(ที่มา:www.kapook.com)
5.9ชุดประจำชาติ
เกบาย่า (Kebaya) เป็นชุดประจำชาติของประเทศอินโดนีเซียสำหรับผู้หญิง มีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาว ผ่าหน้า กลัดกระดุม ตัวเสื้อจะมีสีสันสดใส ปักฉลุเป็นลายลูกไม้ ส่วนผ้าถุงที่ใช้จะเป็นผ้าถุงแบบบาติก ส่วนการแต่งกายของผู้ชายมักจะสวมใส่เสื้อแบบบาติกและนุ่งกางเกงขายาวหรือเตลุก เบสคาพ (Teluk Beskap) ซึ่งเป็นการแต่งกายแบบผสมผสานระหว่างเสื้อคลุมสั้นแบบชวาและโสร่ง และนุ่งโสร่งเมื่ออยู่บ้านหรือประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิด
ภาพที่ 7.35ชุดประจำชาติประเทศอินโดนีเซีย
(ที่มา:www.kapook.com)

5.10 วัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตแตกต่างกันไป ในแต่ละกลุ่มชน ชาวชนบทที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ยังยึดมั่นอยู่กับประเพณีเดิมอยู่มาก ส่วนกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง และได้รับการศึกษาแบบตะวันตก จะมีวิถีชีวิตแตกต่างกันออกไป การแบ่งกลุ่มชนตามขนบธรรมเนียมประเพณี และพื้นที่ตั้ง สามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในเกาะชวา และบาหลี ผู้คนที่อยู่ในแถบนี้จะยึดมั่นอยู่ในแนวทางของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ มีวัฒนธรรมเน้นหนักในเรื่องคุณค่าของจิตใจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาศิลปะอย่างมากมาย โดยเฉพาะนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประชากรจะประพฤติตามหลักจริยธรรม มีการเคารพต่อบุคคลตามฐานะของบุคคลนั้น ๆ
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามบริเวณริมฝั่งทะเลของเกาะต่าง ๆ ดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบการค้าขาย มีชีวิตทางวัฒนธรรมตามหลักของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด และเป็นนักธุรกิจของสังคมอินโดนีเซียยุคใหม่ และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา และกฎหมาย
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มีความล้าหลังมาก อาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาในส่วนลึกของประเทศ ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ และการเพาะปลูก รัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชนกลุ่มนี้แล้ว
5.11วิถีชีวิต
ชาวอินโดนีเซียประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 350 กลุ่ม จึงมีขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนชีวิตแตกต่างกันออกไป ชาวชนบทยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิม ขณะที่ชาวเมืองชีวิตแบบคนเมืองทั่วไป ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาอิสลามและดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด  ประชาชนในเกาบาหลีนับถือศาสนาฮินดู จึงยึดถือเรื่องเทพเจ้าและผีมีการนำเครื่องสักการะไปบูชาเทพเจ้า และทำพิธีกรรมต่างๆ จนเป็นสิ่งปฏิบัติประจำวัน
ชาวอินโดนีเซียยึดถือจารีตประเพณี อย่างเคร่งครัด โดยมีสาระสำคัญคือ ความผูกพันระหว่างสามี ภรรยา พ่อแม่กับลูก และพลเมืองต่อสังคม
5.12อาหาร
กาโด กาโด (Gado Gado) อาหารเพื่อสุขภาพยอดนิยมของอินโดนีเซีย เป็นอาหารที่ประกอบไปด้วยผักและธัญพืชนานาชนิด ทั้งถั่วชนิดต่างๆ มันฝรั่ง แครอท และยังมีเต้าหู้และไข่ต้มสุกอีกด้วย โดยกาโด กาโดจะรับประทานคู่กับซอสถั่วที่มีลักษณะคล้ายๆกับซอสหมูสะเต๊ะ ซึ่งในซอสจะมีส่วนประกอบของสมุนไพรอยู่ด้วยทำให้ไม่เลี่ยนกะทิเวลารับประทาน
ภาพที่ 7.36กาโด กาโด
(ที่มา:www.pakpink.com)
5.13จุดแข็ง
5.13.1 มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
5.13.2มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
5.14ข้อควรรู้
5.14.1ไม่ควรใช้มือซ้ายในการรับ-ส่งของ คนมุสลิมอินโดนีเซียถือว่ามือซ้ายไม่สุภาพ
5.14.2นิยมใช้มือกินข้าว
5.14.3ไม่ควรชี้นิ้วด้วยนิ้วชี้ แต่ใช้นิ้วโป้งแทน
5.14.4ไม่จับศีรษะคนอินโดนีเซียรวมทั้งการลูบศีรษะเด็ก
5.14.5การครอบครองยาเสพติด อาวุธ หนังสือรูปภาพอนาจาร มีบทลงโทษหนัก อาทิ การนำเข้าและครอบครองยาเสพติดมีโทษถึงประหารชีวิต
5.14.6บทลงโทษรุนแรงเกี่ยวกับการค้าและส่งออกพืชและสัตว์กว่า 200 ชนิด จึงควรตรวจสอบก่อนซื้อหรือนำพืชและสัตว์ออกนอกประเทศ
5.14.7มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีมิเตอร์
5.14.8งานศพใส่ชุดสีอะไรก็ได้
6. ประเทศบรูไน
6.1 ชื่อทางการ: เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam แปลว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข)
6.2เมืองหลวง: บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan) อยู่ในเขต Brunei-Muara
ภาพที่ 7.37บันดาร์เสรีเกกาวัน ประเทศบรูไน
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
6.3ภาษาราชการ: ภาษามาเลย์ (Bahasa Melayu) ส่วนภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารแพร่หลาย
6.4ศาสนา: ศาสนาประจำชาติ คือ ศาสนาอิสลาม (67%) ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ศาสนาพุทธ (13%) ศาสนาคริสต์ (10%) และฮินดู
6.5สกุลเงิน: ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar)
6.6ธงชาติ
ธงชาติบรูไน ลักษณะของธงชาติมีพื้นสีเหลือง โดยมีแถบสีขาว และสีดำ พาดตามแนวทแยงมุมจากด้านคันธงจรดปลายธง ซึ่งแถบสีขาวอยู่ด้านบน แถบสีดำอยู่ด้านล่าง ขณะที่กลางธงนั้น มีตราแผ่นดินของบรูไนประทับอยู่ ซึ่งสีต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้
สีเหลือง หมายถึง กษัตริย์
สีขาว และสีดำ หมายถึง มุขมนตรี
สาเหตุที่ธงชาติบรูไนใช้สีเหลืองสื่อถึงกษัตริย์นั้น เนื่องจากธงประจำพระองค์ของสุลต่านแห่งบรูไน ใช้ธงพื้นสีเหลือง
ภาพที่ 7.38ธงชาติประเทศบรูไน
(ที่มา: www.kapook.com)
6.7ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติบรูไน ก็คือ ดอกซิมปอร์ (Simpor) หรือที่รู้จักกันในชื่อดอกส้านชะวา (Dillenia) ดอกไม้ประจำท้องถิ่นบรูไน ที่มีกลีบขนาดใหญ่สีเหลืองหากบานเต็มที่แล้วกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม พบเห็นได้ตามแม่น้ำทั่วไปของบรูไนมีสรรพคุณช่วยรักษาบาดแผล หากใครแวะไปเยือนบรูไน จะพบเห็นได้จากธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ ของประเทศบรูไน และในงานศิลปะพื้นเมืองอีกด้วย
ภาพที่ 7.39ดอกซิมปอร์
(ที่มา:www.kapook.com)
6.8สัตว์ประจำชาติ
เสือโคร่งสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่นอกจากจะได้รับการเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของพม่าแล้วยังถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติบรูไนอีกด้วยโดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศบรูไนซึ่งมีภูเขาและป่าไม้อยู่เป็นจำนวนมาก มีประชากรไม่หนาแน่นสัตว์ป่าจึงไม่ถูกรบกวน จึงสามารถพบเสือโคร่งสายพันธุ์เอเชียจำนวนมากและได้ถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศบรูไนในที่สุด
ภาพที่ 7.40เสือโคร่ง
(ที่มา:www.kapook.com)
6.9ชุดประจำชาติ
ชุดประจำชาติของบรูไนคล้ายกับชุดประจำชาติของผู้ชายประเทศมาเลเซีย เรียกว่า“บาจู มลายู (Baju Melayu)”ส่วนชุดของผู้หญิงเรียกว่า“บาจูกุรุง (Baju Kurung)”แต่ผู้หญิงบรูไนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสโดยมากมักจะเป็นเสื้อผ้าที่คลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าส่วนผู้ชายจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว ตัวเสื้อยาวถึงเข่านุ่งกางเกงขายาวแล้วนุ่งโสร่ง เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมสังคมแบบอนุรักษ์นิยมเพราะบรูไนเป็นประเทศมุสสิม จึงต้องแต่งกายมิดชิดและสุภาพเรียบร้อย

ภาพที่ 7.41ชุดประจำชาติประเทศบรูไน

(ที่มา:www.kapook.com)
6.10วัฒนธรรม
วัฒนธรรมบรูไนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมาเลเซียและอินโดนีเซียมาก จึงมีประเพณี ภาษา และการแต่งกายที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งสุภาพบุรุษจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว ตัวเสื้อยาวถึงเข่า นุ่งกางเกงขายาวแล้วนุ่งโสร่ง เรียกว่า “บาจู มลายู (Baju Melayu)”ส่วนชุดของสุภาพสตรีเรียกว่า “บาจูกุรุง (Baju Kurung)”จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส โดยมากมักจะเป็นเสื้อผ้าที่คลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมและสังคมแบบอนุรักษ์นิยม
6.11วิถีชีวิต
บรูไนเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีฐานะมั่งคั่ง รัฐบาลมีงบประมาณสำหรับจัดสาธารณูปโภค ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี รายได้ประชาชาติต่อหัวสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ อัตราการเกิดของประชากรค่อนข้างต่ำ เพราะประชาชนมีการศึกษาสูง หญิงชาวบรูไนมีลูกโดยเฉลี่ย 2 คน
บรูไนมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ วิถีชีวิตของชาวบรูไนอิงกับศาสนา ทั้งด้านการแต่งกาย มารยาททางสังคม การรับประทานอาหาร วัฒนธรรม และประเพณี บรูไนมีวัฒนธรรมมลายู เช่นเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์และบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทย บ้านของชาวบรูไนมีความโดดเด่นอย่างหนึ่ง คือการสร้างบ้านในแม่น้ำรวมกันอยู่ เรียกว่า “กัมปง” มีทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลและสถานที่อำนวยความสะดวก มีการสัญจรหากันโดยใช้เรือ ซึ่งมีเรือแท็กซี่คอยให้บริการ
6.12อาหาร
อัมบูยัต (Ambuyat) เป็นอาหารที่พลาดไม่ได้เมื่อเดินไปเยือน เป็นอาหารที่ทำจากแป้งสาคู มีลักษณะคล้ายๆข้าวต้มหรือโจ๊ก ตัวแป้งจะไม่มีรสชาติจึงต้องทานคู่กับซอสผลไม้ และต้องมีเครื่องเคียงตามชอบ เช่น ผักสด เนื้อย่าง เนื้อทอด ปลาย่าง และที่สำคัญต้องทานเวลาร้อนๆเท่านั้นจึงจะอร่อยและได้รสชาติที่แท้จริง
ภาพที่ 7.42อัมบูยัต
(ที่มา:www.pakpink.com)
6.13จุดแข็ง
6.13.1การเมืองค่อนข้างมั่นคง
6.13.2รายได้เฉลี่ยต่อคนเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน อันดับ 26 ของโลก
6.13.3ผู้ส่งออกและมีปริมาณสำรองน้ำมันอันดับ 4 ในอาเซียน
6.14ข้อควรรู้
6.14.1ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเหลือง เพราะถือเป็นสีของพระมหากษัตริย์
6.14.2การทักทายจะจับมือกันเบาๆ และสตรีจะไม่ยื่นมือให้บุรุษจับ
6.14.3การใช้นิ้วชี้ไปที่คนหรือสิ่งของถือว่าไม่สุภาพ แต่จะใช้หัวแม่มือชี้แทน
6.14.4จะไม่ใช้มือซ้ายในการส่งของให้ผู้อื่น
6.14.5สตรีเวลานั่งจะไม่ให้เท้าชี้ไปทางผู้ชายและไม่ส่งเสียงหรือหัวเราะดัง
6.14.6วันหยุดคือวันศุกร์และวันอาทิตย์, วันศุกร์ 12.00-14.00 น.ทุกร้านจะปิด
7. ประเทศเวียดนาม
7.1 ชื่อทางการ: สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam)
7.2เมืองหลวง: กรุงฮานอย (Hanoi)
ภาพที่ 7.43กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
7.3ภาษาราชการ: ภาษาเวียดนาม (Vietnamese)
7.4ศาสนา: นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานสูงถึงร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร ร้อยละ 15 นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือนับถือลัทธิขงจื้อมุสลิม
7.5สกุลเงิน: ด่อง (Dong: VND)
7.6ธงชาติ
ธงชาติเวียดนาม พื้นธงเป็นสีแดงล้วน ตรงกึ่งกลางมีรูปดาว 5 แฉก สีเหลืองทอง เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าหมายถึงชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมเวียดนาม คือ นักปราชญ์ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้า และทหาร ส่วนสีต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้
สีแดง หมายถึง การต่อสู้เพื่อกู้เอกราชของชาวเวียดนาม
สีเหลือง หมายถึง ชาวเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรวมชาติเวียดนามในปี พ.ศ. 2519 ความหมายในธงได้มีการอธิบายใหม่ในทางการเมืองว่า
สีแดง หมายถึง การปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมาชีพ
ดาวสีทอง หมายถึง การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
ภาพที่ 7.44 ธงชาติประเทศเวียดนาม
(ที่มา: www.kapook.com)
7.7 ดอกไม้ประจำชาติ
ประเทศเวียดนาม มีดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง ดอกบัว (Lotus) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกบัวเป็นที่รู้จักกันในนาม ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี ดอกบัวจึงมักถูกกล่าวถึงในบทกลอนและเพลงพื้นเมืองของชาวเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง
ภาพที่ 7.45 ดอกบัว
(ที่มา: www.kapook.com)
7.8 สัตว์ประจำชาติ
ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ปลูกข้าวรายใหญ่ประเทศหนึ่งของโลก และการปลูกข้าวของชาวเวียดนามนั้นยังนิยมใช้ควายในการไถนาอยู่ ดังนั้นวิถีชีวิตของคนเวียดนามจึงผูกพันกับควายมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น โดยที่ควายนั้นจะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศเวียดนาม (เช่นเดียวกับประเทศไทยในสมัยที่ยังนิยมใช้ควายไถนานั่นเอง) ดังนั้นควายจึงถูกยกขึ้นเป็นสัตว์ประจำชาติเวียดนาม
ภาพที่ 7.46 ควาย
(ที่มา: www.kapook.com)
7.9 ชุดประจำชาติ
อ่าวหญ่าย (Ao dai) เป็นชุดประจำชาติของประเทศเวียดนามที่ประกอบไปด้วยชุดผ้าไหมที่พอดีตัวสวมทับกางเกงขายาวซึ่งเป็นชุดที่มักสวมใส่ในงานแต่งงานและพิธีการสำคัญของประเทศ มีลักษณะคล้ายชุดกี่เพ้าของจีน ในปัจจุบันเป็นชุดที่ได้รับความนิยมจากผู้หญิงเวียดนาม ส่วนผู้ชายเวียดนามจะสวมใส่ชุดอ่าวหญ่ายในพิธีแต่งงาน หรือพิธีศพ
ภาพที่ 7.47 อ่ายหญ่าย ชุดประจำชาติประเทศเวียดนาม
(ที่มา: www.kapook.com)
7.10 วัฒนธรรม
ด้านศิลปวัฒนธรรมของเวียดนาม มีความแตกต่างกับศิลปวัฒนธรรมของไทยอย่างมาก เพราะเวียดนามถูกปกครองโดยประเทศจีนมาหลายครั้งหลายหน จนอาจเรียกได้ว่า “อารยะธรรม” วัฒนธรรมของเวียดนามคือ วัฒนธรรมของประเทศจีนนั่นเอง โดยเฉพาะทางด้านศิลปะของโบราณสถาน ต่าง ๆ อาทิ พระราชวัง วัด สุสาน ฯลฯ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันจนไม่สามารถแยกออกให้เห็นอย่างเด่นชัด แม้ในช่วงหลังมานี้เวียดนามอาจได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศส และญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมแล้วจะคล้ายคลึงกับประเทศจีน และมีหลักฐานให้เห็นอยู่ทั่วไปบริเวณสองข้างทางถนน
7.11 วิถีชีวิต
ภายในประเทศเวียดนาม จะพบยานพาหนะที่เป็นรถจักรยาน หรือจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่และในช่วงเวลาเช้า ประชาชนชาวเวียดนามมักนำเก้าอี้มานั่งหน้าร้านค้า จิบกาแฟ พร้อมกับชมวิวและผู้คนที่เดินผ่านไปมา ชาวเวียดนามเป็นคนขยัน ประหยัด รู้จักใช้จ่าย เพราะเป็นประเทศที่เคยตกอยู่ในภาวะสงครามมาก่อน
7.12 อาหาร
เปาะเปี๊ยะเวียดนาม (Vietnamese Spring Rolls) อาหารที่ขึ้นชื่อมากเพราะในประเทศไทยเองก็มีขายกันอย่างแพร่หลาย ความอร่อยของเปาะเปี๊ยะเวียดนามจะอยู่ที่แป้งที่ทำมาจากข้าวเจ้า แล้วนำมาห่อกับเนื้อสัตว์ซึ่งอาจจะเป็นไก่ หมู กุ้ง หมูยอ หรือจะนำมารวมกันก็ได้ บวกกับผักสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น ผักกาดหอม สะระแหน่ ทานคู่กับน้ำจิ้มหวานโดยในน้ำจิ้มสามารถเพิ่มแครอทซอย ไชเท้าซอย และถั่วคั่วได้ตามต้องการ

ภาพที่ 7.48 เปาะเปี๊ยะเวียดนาม

(ที่มา: www.pakpink.com)
7.13 จุดแข็ง
7.13.1 มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียแปซิฟิค
7.14.ข้อควรรู้
7.14.1 หน่วยงานราชการ สำนักงาน และองค์กรให้บริการสาธารณสุข เปิดทำการระหว่างเวลา 08.00 น.-16.30 น. ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์
7.14.2 เวียดนามไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพอาคารที่ทำการต่าง ๆ ของรัฐ
7.14.3 คดียาเสพติดการฉ้อโกงหน่วยงานของรัฐมีโทษประหารชีวิต
7.14.4 ชุดนักเรียนหญิงเป็นชุดอ่าวหญ่าย
7.14.5 คนภาคเหนือไม่ทานน้ำแข็ง
7.14.6 ไม่ถ่ายรูป 3 คนอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าจะทำให้เบื่อกัน หรือแยกกันหรือใครคนใดเสียชีวิตต้องเชิญผู้ใหญ่ก่อนทานข้าว
8. ประเทศเมียนมาร์
8.1 ชื่อทางการ: สหภาพพม่า (Union of Myanmar)
8.2 เมืองหลวง: เนปีดอ (Naypyidaw) (ภาษาพม่า) หรือบางครั้งสะกดเป็น เนปีตอ (Nay Pyi Taw) มีความหมายว่า มหาราชธานี
ภาพที่ 7.49 เนปิดอ ประเทศเมียนมาร์
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
8.3 ภาษาราชการ: ภาษาพม่า
8.4 ศาสนา: ศาสนาพุทธ ร้อยละ 90 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 5 ศาสนาอิสลามร้อยละ 3.8 ศาสนาฮินดูร้อยละ 0.05
8.5 สกุลเงิน: จ๊าด (Kyat : MMK)
8.6 ธงชาติ
ธงชาติพม่า ได้แบ่งตามความยาวออกเป็น 3 ส่วน และมีความกว้างเท่า ๆ กัน โดยแต่ละส่วน มีสีที่แตกต่างกัน ไล่จากบนลงล่าง คือ สีเหลือง สีเขียว และสีแดง ขณะที่กึ่งกลางธงมีรูปดาว 5 แฉก      สีขาวขนาดใหญ่ ซึ่งสีและสัญลักษณ์ ต่าง ๆ มีความหมาย ดังนี้
สีเขียว หมายถึง สันติภาพ ความสงบ และความอุดมสมบูรณ์ของพม่า
สีเหลือง หมายถึง ความสามัคคี
สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง เด็ดขาด
ดาวสีขาว หมายถึง สหภาพอันมั่นคงเป็นเอกภาพ
ภาพที่ 7.50 ธงชาติประเทศเมียนมาร์
(ที่มา: www.kapook.com)
8.7 ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า คือ ดอกประดู่ (Paduak) เป็นดอกไม้ที่พบมากในประเทศพม่า มีสีเหลืองทอง ผลิดอกและส่งกลิ่นหอมในฤดูฝนแรก ช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศพม่ามีการเฉลิมฉลองปีใหม่ขึ้น ชาวพม่าเชื่อว่าดอกประดู่คือสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน และเป็นดอกไม้ที่ขาดไม่ได้ในพิธีทางศาสนาของชาวพม่าเลย
ภาพที่ 7.51 ดอกประดู่
(ที่มา: www.kapook.com)
8.8 สัตว์ประจำชาติ
เสือโคร่ง (Tiger) นั้นเป็นสัตว์กินเนื้อตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความดุร้าย ว่องไว ปราดเปรียว สามารถวิ่งได้เร็ว ว่ายน้ำเก่ง ปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย และพบมากในป่าของประเทศพม่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่าได้เป็นอย่างดี ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า เสือคือดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ดังนั้นเสือจึงถูกเลือกให้เป็นสัตว์ประจำชาติพม่า
ภาพที่ 7.52 เสือโคร่ง
(ที่มา: www.kapook.com)
8.9 ชุดประจำชาติ
ชุดประจำชาติของชาวพม่าเรียกว่า “ลองยี (Longyi)” เป็นผ้าโสร่งที่นุ่งทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในวาระพิเศษต่าง ๆ ผู้ชายจะใส่เสื้อเชิ้ตคอปกจีนแมนดารินและเสื้อคลุมไม่มีปก บางครั้งจะใส่ผ้าโพกศีรษะที่เรียกว่า “กอง บอง (Guang Baung)” ส่วนผู้หญิงพม่าจะใส่เสื้อติดกระดุมหน้าเรียกว่า “ยินซี (Yinzi)” หรือเสื้อติดกระดุมข้างเรียกว่า “ยินบอน (Yinbon)” และใส่ผ้าคลุมไหล่ทับ
ภาพที่ 7.53 ชุดประจำชาติประเทศเมียนมาร์
(ที่มา: www.kapook.com)
8.10 วัฒนธรรม
ประเทศพม่ามีประชากรที่ประกอบด้วยชนหลายเผ่า แต่ละเผ่ายึดมั่นในวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ นอกจากนั้น ยังยึดมั่นในศาสนาของตนเองอย่างเคร่งครัด ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 นับถือพระพุทธศาสนา ดังนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมส่วนใหญ่ จึงผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา
วัฒนธรรมผสม  เนื่องจากพม่าได้รับอิทธิพลจากหลายทางด้วยกัน เช่น จากอินเดีย จีน มอญ      ธิเบต ลาว ไทย และชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ประเพณีวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเข้าไปปะปนกับวัฒนธรรมของพม่า
8.11 วิถีชีวิต
ประชากรของเมียนมาร์ ประมาณ 58 ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อชาติหลัก ๆ 8 กลุ่ม คือ     เมียนมาร์ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ยะไข่ จีน มอญ อินเดียและอื่น ๆ เมียนมาร์มาภาษาเอกลักษณ์ที่เป็นวัฒนธรรมของตนเองในอดีตรัฐบาลพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมจากส่วนกลาง เพื่อสร้างจิตสำนึกและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ แต่ภายหลังได้มีการผ่อนปรนบ้าง
ประชาชนเมียนมาร์ทั้งชายและหญิงนิยมสูบยาหรือบุหรี่ ที่เรียกว่า “ขี้โย้” หญิงชาวเมียนมาร์มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ การประแป้งบนใบหน้าก่อนออกจากบ้าน โดยแป้งทำจากเนื้อไม้กระแจะเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน สังคมในเมียนมาร์เป็นสังคมที่สงบ ประชาชนมีชีวิตเรียบง่าย รักสันโดษ ยึดศาสนาพุทธเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ไม่มีแหล่งบันเทิงหรือแสงสี
8.12 อาหาร
หล่าเพ็ด ( Lahpet ) อาหารเพื่อสุขภาพที่พลาดไม่ได้ของประเทศพม่า มีลักษณะคล้าย ๆ กับเมี่ยงคำของประเทศไทย เป็นอาหารที่ทำจากใบชาด้วยการนำมาหมัก ทานคู่กับกระเทียมเจียว ถั่วชนิดต่าง ๆ กุ้งแห้ง งา มะพร้าวคั่ว ซึ่งเหล่าเห็ดจะเป็นอาหารที่สำคัญในโอกาสพิเศษหรือเทศกาลสำคัญของประเทศพม่า ถ้าขาดไปถือว่าขาดความสมบูรณ์แบบไปเลยก็ว่าได้
ภาพที่ 7.54 หล่าเพ็ด
(ที่มา: www.pakpink.com)
8.13 จุดแข็ง
8.13.1 มีพรมแดนเชื่อมต่อกับจีน และอินเดีย
8.13.2 ค่าจ้างแรงงานต่ำเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน
8.13.3 มีปริมาณก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
8.14 ข้อควรรู้
8.14.1 ไม่ควรพูดเรื่องการเมือง กับคนไม่คุ้นเคย
8.14.2 เข้าวัดต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า
8.14.3 ห้ามเหยียบเงาพระสงฆ์
8.14.4 ให้นามบัตรต้องยื่นให้สองมือ
8.14.5 ไม่ควรใส่กระโปรงสั้น กางเกงขาสั้น ในสถานที่สาธารณะและศาสนสถาน
8.14.6 ผู้หญิงชอบทาทะนาคา (ผู้ชายก็ทาด้วย) ผู้ชายชอบเคี้ยวหมาก
9. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
9.1 ชื่อทางการ:   สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (The Lao People’s Democratic Republic)
9.2 เมืองหลวง: นครเวียงจันทน์ (Vientiane)
ภาพที่ 7.55 นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
9.3 ภาษาราชการ: ภาษาลาว
9.4 ศาสนา: ร้อยละ 75 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 16-17 นับถือผี ที่เหลือนับถือศาสนาคริสต์ และอิสลาม
9.5 สกุลเงิน: กีบ (Kip)
9.6 ธงชาติ
ธงชาติลาว ลักษณะผืนธงแบ่งตามแนวยาวออกเป็น 3 ส่วน โดยแถบตรงกลางจะเป็นสีน้ำเงิน กว้าง 2 ส่วน มีพระจันทร์ทรงกลมสีขาวอยู่กึ่งกลาง ขณะที่แถบด้านนอกทั้ง 2 ด้าน มีสีแดง และกว้างริ้วละ 1 ส่วน เท่า ๆ กัน โดยสีต่าง ๆ ของธง มีความหมาย ดังนี้
สีแดง หมายถึง เลือดแห่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวลาว
สีน้ำเงิน หมายถึง ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของชาติ
พระจันทร์สีขาว หมายถึงเอกภาพของ
สาเหตุที่มีดวงจันทร์ทรงกลมอยู่ตรงกลาง เนื่องจากเพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงดวงจันทร์ลอยเด่นเหนือลำน้ำโขง

ภาพที่ 7.56 ธงชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(ที่มา: www.kapook.com)
9.7 ดอกไม้ประจำชาติ
ดอกไม้ประจำชาติประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศลาว คือ ดอกจำปาลาว (Dok Champa) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม โดยดอกจำปาลาวมักมีสีสันหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงสีขาวเท่านั้น เช่น สีชมพู สีเหลือง สีแดง หรือสีโทนอ่อนต่าง ๆ โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความจริงใจ จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ รวมทั้งใช้เป็นพวงมาลัยเพื่อรับแขกอีกด้วย
ภาพที่ 7.57 ดอกจำปาลาว
(ที่มา: www.kapook.com)
9.8 สัตว์ประจำชาติ
ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติลาวเช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ตั้งของประเทศ สปป.ลาวในปัจจุบันนั้นในอดีตมีชื่อเรียกว่า “อาณาจักรล้านช้าง” ใช้ช้างในการทำศึกสงครามและในการใช้แรงงานเช่นเดียวกับประเทศไทยของเราทุกประการ
ภาพที่ 7.58 ช้าง
(ที่มา: www.kapook.com)
9.9 ชุดประจำชาติ
ผู้หญิงลาวนุ่งผ้าซิ่น และใส่เสื้อแขนยาวทรงกระบอก สำหรับผู้ชายมักแต่งกายแบบสากล หรือนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อชั้นนอกกระดุมเจ็ดเม็ด คล้ายเสื้อพระราชทานของไทย
ภาพที่ 7.59 ชุดประจำชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(ที่มา: www.kapook.com)
9.10 วัฒนธรรม
มีความคล้ายคลึงกับคนภาคอิสานของไทยเป็นอย่างมาก ยังมีคำกล่าวที่ว่า มีลาวอยู่แห่งใด มีมัดหมี่ แลลายจกอยู่ที่นั่นในด้านดนตรี ลาวมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติ มีหมอขับ หมอลำ ลาวมีประเพณีทางพระพุทธศาสนาและอื่น ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันสงกรานต์ วันออกพรรษา บุญเข้าประดับดิน บุญเข้าฉลาก บุญส่วงเฮือ (แข่งเรือ) บุญธาตุหลวงเวียงจันทน์ ในเดือน 12 เป็นต้น
9.11 วิถีชีวิต
ชาวลาวประกอบด้วย 49 ชนเผ่า ซึ่งมีชีวิต อาหาร และภาษาที่แตกต่างกันออกไปแต่ภาษาราชการขอลาวมีเพียงภาษาลาวภาษาเดียว  ชาวลาวยึดอาชีพเกษตรกรรม อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ และนิยมกลับไปรับประทานอาหารที่บ้านพร้อมหน้าตากัน ชาวลาวมีความเป็นมิตรและยิ้มแย้มแจ่มใส อาหารหลักของชาวลาวคือ ข้าวเหนียว แต่เนื่องจากเคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสจึงยังมีวัฒนธรรมบางอย่างติดตัวมา เช่น การรับประทานบาแกตไส้ต่าง ๆ  กับกาแฟในตอนเช้า นอกจากรับเอาวัฒนธรรมของฝรั่งเศสแล้วยังรับเอาวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ชอบดูรายการโทรทัศน์ของไทยซื้อสินค้าจากประเทศไทย ชอบกินเฝออย่างชาวเวียดนาม เป็นต้น
9.12 อาหาร
สลัดหลวงพระบาง (Luang Prabang Salad) สลัดสุดอร่อยของประเทศลาว ที่มีรสชาติลงตัวสามารถรับประทานได้ทั้งชาวตะวันตก และตะวันออก ซึ่งส่วนประกอบก็จะคล้ายกับสลัดถั่วไปคือ แตงกวา มะเขือเทศ ผักกาดหอม แต่จะพิเศษตรงที่จะเพิ่มผักน้ำ ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่มีเฉพาะในประเทศลาวเท่านั้น ทานคู่กับไข่ต้มและหมูสับลวกสุก ราดด้วยสลัดน้ำใสพร้อมโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียวและถั่วลิสงคั่ว
ภาพที่ 7.60 หลัดหลวงพระบาง
(ที่มา: www.pakpink.com)
9.13 จุดแข็ง
9.13.1 ค่าจ้างแรงงานต่ำอันดับ 2 ในอาเซียน
9.13.2 การเมืองมีเสถียรภาพ

9.14 ข้อควรรู้
9.14.1 ลาว มีตัวอักษรคล้ายของไทย ทำให้คนไทยอ่านหนังสือลาวได้ไม่ยากนัก ส่วนคนลาวอ่านหนังสือไทยได้คล่องมาก
9.14.2 ลาวขับรถทางขวา
9.14.3 ติดต่อราชการต้องนุ่งซิ่น
9.14.4 เดินผ่านผู้ใหญ่ ต้องก้มหัว
9.14.5 ถ้าเพื่อนคนลาวเชิญไปพักที่บ้านห้ามให้เงิน
9.14.6 อย่าซื้อน้ำหอมให้กัน
9.14.7 ที่ถูกต้องคนลาวที่ให้พัก ต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้าน
9.14.8 เข้าบ้านต้องถอดรองเท้า และถ้าเขาเสิร์ฟน้ำต้องดื่ม
10. ประเทศกัมพูชา
10.1 ชื่อทางการ: ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia)
10.2 เมืองหลวง: กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)
ภาพที่ 7.61 กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
(ที่มา: http://www.thai-aec.com)
10.3 ภาษาราชการ: ภาษาเขมร ส่วนภาษาที่ใช้โดยทั่วไปได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน และไทย
10.4 ศาสนา: ศาสนาประจำชาติ คือ ศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท (แยกเป็น 2 นิกายย่อย คือ ธรรมยุตินิกายและมหานิกาย) และศาสนาอื่นๆ อาทิ ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์
10.5 สกุลเงิน: เงินเรียล (Riel: KHR)
10.6 ธงชาติ
ธงชาติกัมพูชา ลักษณะผืนธงแบ่งตามแนวยาวเป็น 3 ริ้ว โดยริ้วตรงกลางจะเป็นสีแดง กว้าง 2 ส่วน มีรูปปราสาทหินนครวัดสามยอดสีขาวอยู่บริเวณกึ่งกลาง ขณะที่ริ้วด้านนอกทั้ง 2 ด้าน มีสีน้ำเงิน และกว้างริ้วละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยสีต่าง และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของธง มีความหมาย ดังนี้

สีน้ำเงิน หมายถึง กษัตริย์
สีแดง หมายถึง ชาติ
ส่วนปราสาทนครวัดสีขาว หมายถึง สันติภาพ
ภาพที่ 7.62 ธงชาติประเทศกัมพูชา
(ที่มา: www.kapook.com)
10.7 ดอกไม้ประจำชาติ
กัมพูชามีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกลำดวน (Rumdul) ดอกไม้สีขาวปนเหลืองนวล กลีบดอกหนาทึบและแข็งเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเย็นแบบกรุ่น ๆ ถูกจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเพราะมีความหมายถึงความสดชื่นหอมกรุ่น และเป็นดอกไม้สำหรับสุภาพสตรี วิธีปลูกที่ถูกต้อง ต้องปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ที่สำคัญต้องปลูกในวันพุธ
ภาพที่ 7.63 ดอกลำดวน
(ที่มา: www.kapook.com)
10.8 สัตว์ประจำชาติ
กูปรี หรือ โคไพร เป็นสัตว์จำพวกกระทิงหรือวัวป่าชนิดหนึ่ง เป็นสัตว์กีบคู่ ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขน ปัจจุบันกูปรีอยู่ในสถานะสูญพันธุ์ โดยไม่มีรายงานการพบกูปรีในป่าธรรมชาติมานานหลายสิบปีแล้ว แต่นักอนุรักษ์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะยังสามารถพบกูปรีได้ตามป่าชายแดนไทยและกัมพูชา กูปรีถูกประกาศให้เป็นสัตว์ประจำชาติกัมพูชาโดยสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุอดีตกษัตริย์ของกัมพูชา นอกจากกูปรีจะเป็นสัตว์ประจำชาติของกัมพูชาแล้ว ยังพบว่ากูปรียังเป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ของ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์อีกด้วย
ภาพที่ 7.64 กรูปรี
(ที่มา: www.kapook.com)
10.9 ชุดประจำชาติ
ชุดประจำชาติของกัมพูชาคือ ซัมปอต (Sampot) หรือผ้านุ่งกัมพูชา ทอด้วยมือ มีทั้งแบบหลวมและแบบพอดี คาดทับเสื้อบริเวณเอว ผ้าที่ใช้มักทำจากไหมหรือฝ้าย หรือทั้งสองอย่างรวมกัน   ซัมปอตสำหรับผู้หญิงมีความคล้ายคลึงกับผ้านุ่งของประเทศลาวและไทย ทั้งนี้ซัมปอดมีหลายแบบซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนชั้นทางสังคมของชาวกัมพูชา ถ้าใช้ในชีวิตประจำวันจะใช้วัสดุราคาไม่สูง ซึ่งจะส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น นิยมทำลวดลายตามขวาง ถ้าเป็นชนิดหรูหราจะทอด้ายเงินและด้ายทอง
ภาพที่ 7.65 ชุดประจำชาติประเทศกัมพูชา
(ที่มา: www.kapook.com)
10.10 วัฒนธรรม
ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทยกับกัมพูชามีความคล้ายคลึงกันทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก จึงเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ดังเช่นความพยายามที่จะประสานรอยร้าวของความสัมพันธ์ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2546 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย -กัมพูชา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและใช้เป็นกลไกในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยสองฝ่ายได้จัดประชุมร่วมกันแล้วหลายครั้งเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือและแผนปฏิบัติการประจำปีสำหรับใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันความร่วมมือในแต่ละสาขาด้วย
10.11 วิถีชีวิต
ประชาชนกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย จะดำเนินชีวิตแบบสังคมเมือง นิยมประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนชนชั้นกลางที่มีความรู้มักรับราชการหรือทำงานบริษัท ชาวเมืองมีความเป็นอยู่ที่ทันสมัย ซึ่งแตกต่างจากประชาชนตามชนบทซึ่งมีจำนวนมากกว่าชาวเมือง ชาวชนบทโดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกลความเจริญมีการศึกษาน้อย แค่อ่านออกเขียนได้ หรือบางคนอ่านหนังสือไม่ออก มักใช้ชีวิตหาความรู้ในวัด    มีชีวิตเรียบง่าย มีความเป็นมิตร
ประชาชนกัมพูชาส่วนใหญ่นับนับถือศาสนาพุทธ แต่มีความเชื่อเรื่องภูตผีและเวทมนตร์คาถาซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และถือเป็นวิถีชาวบ้าน ชาวกัมพูชารับประทานข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนกับคนไทย มีต้ม แกง ผัด ส่วนข้าวเหนียวกินกับผลไม้ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน เป็นต้น
10.12 อาหาร
อาม็อก (Amok) อาหารยอดนิยมของประเทศกัมพูชา ที่ไม่ว่าใครจะไปเยือนต้องได้ลิ้มลอง     อาม็อก  มีหน้าตาคล้าย ๆ กับห่อหมก  เป็นอาหารที่ทำมาจากเนื้อปลาสด ๆ ที่นำมาลวกกับเครื่องแกงและกะทิ แล้วจึงนำไปนึ่งให้สุก ซึ่งโดยปกติแล้วปลาจะเป็นอาหารหลักของชาวกัมพูชาเพราะหาได้ง่ายตามแม่น้ำลำคลองที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่ในบางครั้งก็อาจใช้ไก่แทนได้
ภาพที่ 7.66 อาม็อก
(ที่มา: www.pakpink.com)
10.13 จุดแข็ง
10.13.1 ค่าจ้างแรงงานต่ำที่สุดในอาเซียน
10.13.2 มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและสมบูรณ์
10.14 ข้อควรรู้
10.14.1 ผู้ที่เดินทางเข้ากัมพูชา และประสงค์จะอยู่ทำธุรกิจเป็นระยะเวลาเกิน 3 เดือน ควรฉีดยาป้องกันโรคไทฟอยด์ และไวรัสเอและบี
10.14.2 เพื่อนผู้ชายจับมือกัน ถือเป็นเรื่องปกติ
10.14.3 ผู้หญิงห้ามแต่งตัวเซ็กซี่ ผู้ชายไว้ผมยาวจะมีภาพลักษณ์นักเลง
10.14.4 ห้ามจับศีรษะ คนกัมพูชาถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย
ภาษาอาเซียนน่ารู้
ประเทศ
คำศัพท์
ความหมาย
1.ไทย
สวัสดี
สวัสดี

ยินดีที่ได้รู้จัก
ยินดีที่ได้รู้จัก

ขอบคุณ
ขอบคุณ

ลาก่อน
ลาก่อน

ขอโทษ
ขอโทษ
2.พม่า
มิงกะลาบา
สวัสดี

ตุ๊ยยาดา หวันตาบ่าแด
ยินดีที่ได้รู้จัก

เจซูบ่าแบ
ขอบคุณ

 เจ๊ะ โจร แม่
ลาก่อน 

เตา บั่น บ่า เต่
ขอโทษ
3.กัมพูชา
อรุณซัวซะเดย  
สวัสดีตอนเช้า

รึกเรียรตีบานจวบ
ยินดีที่ได้รู้จัก

โซ้มโต๊ก 
ขอโทษ
4.อินโดนีเซีย
เซลามัทปากิ
 สวัสดีตอนเช้า

เทริมากาสิ
 ขอบคุณ  

บาย บาย
 ลาก่อน
5.ลาว
สะบายดี   
สวัสดี

ยินดีที่ฮู้จัก  
ยินดีที่ได้รู้จัก

ขอบใจ  
ขอบคุณ

ลาก่อน    
ลาก่อน 

ประเทศ
คำศัพท์
ความหมาย
6.มาเลเซีย
ซาลามัด ดาตัง     
สวัสดี

เจมบิรา ดาปัด เบอเตมู อันดา
ยินดีที่ได้รู้จัก

เตริมา กะชิ 
ขอบคุณ

เซลามัต ติงกัล 
ลาก่อน 
7.บรูไน
ซาลามัด ดาตัง  
สวัสดี

เจมบิรา ดาปัด เบอเตมู อันดา
ยินดีที่ได้รู้จัก

เตริมา กะชิ 
ขอบคุณ

เซลามัต ติงกัล 
ลาก่อน 
8.ฟิลิปปินส์
กูมูสต้า
สวัสดี

นาตูตูวา นาอลัม โม  
ยินดีที่ได้รู้จัก

ซาลามัต
ขอบคุณ

ปาอาลัม
ลาก่อน 
9. สิงคโปร์
หนี ห่าว
สวัสดี

เหิ่น เกา ซิ่ง เริ่น ชื่อ หนี่  
ยินดีที่ได้รู้จัก

เซี่ยย เซี่ย  
ขอบคุณ

ไจ้เจี้ยน 
ลาก่อน 
10. เวียดนาม
ซินจ่าว 
สวัสดี

เริ๊ดวูยเดือกกัปแอง/จิ... 
ยินดีที่ได้รู้จัก

ก๊าม เอิน 
ขอบคุณ

ต๋ามเบียด 
ลาก่อน 

สรุปสาระสำคัญ
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การทำงานแรงงานบางอาชีพอาจจะต้องทำงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษา หรือแรงงานบางแรงงานอาจจะต้องไปทำงานในต่างประเทศ ดังนั้นการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ ย่อมทำให้การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของชาติหนึ่งชาติใด ที่เราจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์ด้วย เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ย่อมจะนำผลให้การปฏิบัติงานประสบกับความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง
คำศัพท์ (Vocabulary)
คำศัพท์
คำแปล
Culture
วัฒนธรรม
Material Culture
วัฒนธรรมทางวัตถุ
Mental culture
วัฒนธรรมทางจิตใจ
Due to learning
เกิดจากการเรียนรู้
Way of life
วิถีชีวิต
 Heritage Society
มรดกทางสังคม
Association of South East Asian Nation
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้




ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 7
วัฒนธรรมระหว่างประเทศ
ใบงานที่             7.1
เรื่องที่ศึกษา        วัฒนธรรมระหว่างประเทศ
วัตถุประสงค์      อธิบายวัฒนธรรมระหว่างประเทศได้
คำชี้แจง             1. ให้นักเรียนจับสลากแบ่งเป็นกลุ่ม จำนวน 10 กลุ่ม
2. ให้แต่ละกลุ่มแบ่งหัวข้ออภิปรายวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน
3. ค้นคว้าหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
4. จัดทำเป็นรูปเล่มรายงาน พร้อมสื่อในการนำเสนอหน้าชั้นเรียน
5. นำผลงานเสนอหน้าชั้นเรียน
6. ครูและเพื่อน ๆ ร่วมกันประเมินผลงาน
7. นำผลงานส่งครู


ใบงาน
หน่วยการเรียนรู้ที่ 7
วัฒนธรรมระหว่างประเทศ
ใบงานที่             7.2
เรื่องที่ศึกษา        วัฒนธรรมระหว่างประเทศ
วัตถุประสงค์      อธิบายความแตกต่างของวัฒนธรรมในกลุ่มอาเซียนได้
คำชี้แจง             1. ให้นักเรียนจับคู่กัน
2. ศึกษาความแตกต่างของวัฒนธรรมในกลุ่มอาเซียน
3. เลือก 1 เรื่องที่สนใจ
4. จัดทำเป็นสมุดเล่มเล็ก

5. นำผลงานส่งครู


การประเมินผล (สำหรับนักเรียนประเมินตนเอง)
คำชี้แจง  ให้นักเรียนเขียนเครื่องหมาย ü ลงในช่องคะแนนให้ตรงกับความเป็นจริง
1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม
รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. มีวินัย
1.1 มีการวางแผนการทำงานและจัดระบบการทำงาน



1.2 ทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่วางไว้



1.3 ตรวจสอบความถูกต้อง ความเรียบร้อย คุณภาพของงาน



2. มีความรับผิดชอบ
2.1 ยอมรับผลการกระทำของตนเองทั้งผลดีและผลเสีย



2.2 ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สมบูรณ์



2.3 ทำงานได้ตามกำหนดเวลา ตรงต่อเวลา



3. สนใจใฝ่รู้
3.1 มีความกระตือรือร้นและสนใจที่จะแสวงหาความรู้



3.2 ซักถาม ฟัง หรือสนทนาด้วยความสนใจ



3.3 มีความสุขที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้



4. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4.1 คิดสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดประโยชน์ และพัฒนางานอยู่เสมอ



4.2 แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้



4.3 มีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดี



5. มีความผูกพัน   จิตสาธารณะ
5.1 เสียสละ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่



5.2 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน



5.3 แสดงกิริยาสุภาพ อ่อนน้อม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 45 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 9 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน


2. ด้านทักษะ กระบวนการ

รายการประเมิน
พฤติกรรมการแสดงออก
คะแนน
3
2
1
1. การคิด
1.1 ใช้วิธีการสื่อสารในการนำเสนอข้อมูลได้เหมาะสม



1.2 เลือกข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



1.3 สรุปความคิดรวบยอดและสาระสำคัญของเรื่องที่เรียนได้



2. การแก้ปัญหา
2.1 ตั้งคำถามเรื่องที่จะศึกษาได้อย่างเป็นระบบ



2.2 รวบรวมข้อมูลความรู้ ได้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ



2.3 นำข้อมูลความรู้ที่ได้รับไปใช้แก้ปัญหาได้



3. การสื่อสาร
3.1 ใช้วิธีการสื่อสารนำเสนอข้อมูลได้อย่างเหมาะสม



3.2 เลือกรับข้อมูลความรู้ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง



4. การใช้เทคโนโลยี
4.1 ค้นคว้าข้อมูลความรู้จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง



4.2 เลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและมีคุณธรรม



5. ทักษะกระบวนการกลุ่ม
5.1 มีส่วนร่วมในการวางแผนและแบ่งหน้าที่ของกลุ่ม



5.2 เป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในการทำงานกลุ่ม



5.3 ภูมิใจและพอใจในผลงานและการทำงานกลุ่ม



คะแนนรวม (คะแนนเต็ม 39 คะแนน)



ผลรวมคะแนน หาร 7.8 = คะแนนเฉลี่ย 5 คะแนน